ติดตามผลดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สงขลา

ข่าวทั่วไป Tuesday December 9, 2014 15:56 —สำนักโฆษก

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนองค์กรหลัก เดินทางไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดโครงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2559

ประชุมติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อำเภอหาดใหญ่

เมื่อเวลา 11.00 น. พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ.และคณะ เดินทางถึงโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับผู้บริหารศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รมช.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้ชี้แจงผลการดำเนินแผนงาน/โครงการ ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมีการใช้งบประมาณตามแผนบูรณาการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 154 โครงการ เป็นเงินประมาณ 3,453 ล้านบาท รวมถึงการดำเนินงานของแต่ละองค์กรหลัก โดยมีศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือที่เรียกว่า “ศธ.ส่วนหน้า” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการแผนงานต่างๆ ของแต่ละองค์กรหลักให้มีประสิทธิภาพและมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ โดยจะจัดให้มีบุคลากรลงพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน มีการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการดำเนินงาน และนำแผนงานต่างๆ มาบูรณาการอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้ในที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและระดมความคิดในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ

1) การนำการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งได้มอบหมายให้ ศธ.ส่วนหน้าดำเนินการหาข้อมูล สำรวจความคิดเห็นและความเป็นไปได้ เนื่องจากเห็นว่าการนำการกีฬาเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความสามารถพิเศษในด้านกีฬา ซึ่งที่ประชุมได้เสนอการดำเนินการพัฒนากีฬาใน 3 ระยะ ได้แก่ 1) แผนระยะสั้น การจัดกิจกรรมด้านกีฬาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน 2) แผนระยะกลาง การเพิ่มชั่วโมงเรียนกีฬาหรือการกำหนดแผนการเรียนวิทย์-กีฬาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 3) แผนระยะยาว การศึกษาต่อด้านกีฬา และการส่งเสริมกีฬาสู่อาชีพ จากนี้จะมีการหาข้อมูลและสำรวจเพิ่มเติม จัดทำโครงการ และจะมีการแถลงผลให้ทราบในโอกาสต่อไป

2) การรักษาความปลอดภัยครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา และสถานศึกษา มีการประสานงานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และใช้แนวทางการบูรณาการในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จะมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มแข็งและรัดกุมมากขึ้น พร้อมทั้งประสานงานร่วมกันให้มีความสอดคล้องกันและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา และสถานศึกษาให้ได้มากที่สุด

การประชุมเปิดโครงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ

ที่โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่

ในช่วงบ่าย รมช.ศธ.และคณะ เดินทางไปที่โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ เพื่อรับฟังการสรุปสัมมนาเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาในปีงบประมาณ 2559 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้บริหารจาก ศปบ.จชต. ตัวแทนองค์กรหลัก ผู้แทนจาก กอ.รมน. ผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

การพัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนให้สูงขึ้น ให้ผู้เรียนสามารถในการอ่านและเขียนภาษาไทยได้คล่อง มีการจัดทำคู่มือการอ่านและเขียนให้ชัดเจน ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับวัยและระดับการศึกษาของผู้เรียน อีกทั้งให้มีการพัฒนาครูในเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคการสอนด้วย

การพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาในปัจจุบันมีอายุราชการน้อยและขาดประสบการณ์การทำงาน จึงควรมีการปรับหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้บริหาร สร้างผู้บริหารให้เป็นมืออาชีพ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

ควรมีการพัฒนาครูให้ครบทุกกลุ่มสาระวิชา ตรงกับวิชาที่สอน สร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อลดอัตราการย้ายออก สนับสนุนให้มีครูธุรการครบทุกโรงเรียน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ครูอยู่ในห้องเรียนมากที่สุด และสร้างครูให้เป็นครูมืออาชีพ

บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นอัตราจ้างพนักงานราชการ ทำให้มีอัตราการลาออกบ่อยครั้ง เนื่องจากรู้สึกไม่มีความมั่นคงในอาชีพ รวมถึงสวัสดิการ ขวัญและกำลังใจ จึงควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหาและบรรจุแต่งตั้งบุคลากรที่มีประสบการณ์ให้มีโอกาสทำงานที่มั่นคง มีความรู้สึกมั่นคงในอาชีพ

การพัฒนา เสริมสร้างโอกาสและการมีอาชีพ ควรจัดให้มีการแนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปรับทัศนคติและค่านิยมที่เน้นการเรียนสายศาสนาและสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ตั้งชมรมอาชีพในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยมเรื่องอาชีพให้กับนักเรียน ดำเนินการเรียนการสอนแบบทวิภาคีเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยี ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพจากปัจจุบัน ร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 15 พัฒนาทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่และความต้องการของตลาดแรงงาน ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพและทักษะแรงงานให้สูงขึ้น หากดำเนินการได้ดังนี้ ก็จะช่วยให้มาตรฐานวิชาชีพและทักษะของผู้เรียนสูงขึ้น และส่งเสริมการฝึกอาชีพระยะสั้นให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

การสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ให้มีการแนะแนวในสถานศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และสายอาชีพ เน้นการปฏิบัติตามค่านิยมหลัก 12 ประการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เด็กไทยมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล

การพัฒนาการศึกษาสู่อาเซียน ควรพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาไทย เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ดี ทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศไม่ได้สอนตามกระบวนการ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน จึงต้องมีการปรับกระบวนการเรียนการสอนภาษาให้ถูกต้อง รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการส่งเสริมให้ครูใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน

ทั้งนี้ รมช.ศธ.ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายเสียสละเวลามาร่วมสัมมนาในวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2559 โดยให้นำการปฏิบัติงานในช่วงท้ายปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 เป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งการจัดทำแผนงานเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะหากมีแผนงานที่ดี ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เท่ากับว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ความสัมพันธ์ระหว่างแผนงานกับการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ มี 4 ระดับ คือ 1) แผนดี การปฏิบัติดี ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ระดับสูงสุด 2) แผนไม่ดี แต่การปฏิบัติดี ผลสัมฤทธิ์จะอยู่ในระดับรองลงมา 3) แผนดี ปฏิบัติไม่ดี ผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับต่ำลงมาอีก และ 4) แผนไม่ดี ปฏิบัติไม่ดี ทำให้ผลสัมฤทธิ์ออกมาไม่ดี กล่าวสรุปคือ เมื่อจัดทำแผนงานสำเร็จแล้ว หากปฏิบัติได้ตามแผนงานนั้น ความสำเร็จหรือผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นอย่างสูงสุดแน่นอน

ประชุมติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อำเภอหาดใหญ่

ประชุมเปิดโครงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2559ที่โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่

ภาพ : กุณฑิกา พัชรชานนท์

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 9/12/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ