รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกด้านเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2014 17:51 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเปิดงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยยืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกด้านเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

วันนี้ (15ธ.ค.57) เวลา 10.15 น. ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ :เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”และปาฐกถาพิเศษเรื่องยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 – 2564) จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศในอนาคตและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในประเทศและชาวต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการไทย-ต่างประเทศ หอการค้าต่างประเทศ ผู้ช่วยทูตพาณิชย์ ผู้แทนสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน

นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวรายงานถึงการจัดงานสัมมนาฯ ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางนโยบายทิศทาง และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ หน่วยงานของรัฐ และเอกชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ซักถามเพื่อตอบข้อสงสัยต่าง ๆ อันจะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเปิดงานสัมมนาฯ“ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ :เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 – 2564) ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมาถึงกลางปี 2557 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะความไม่สงบทางการเมืองเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อประเทศเป็นวงกว้าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้วันนี้สถานการณ์ได้กลับสู่ภาวะปกติแล้วในระดับหนึ่ง แต่กระบวนการก้าวไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นจะต้องใช้เวลาและทุกคนต้องช่วยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาต้องการการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ระดับฐานราก โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ การ สร้างความสมานฉันท์ปรองดองระหว่างประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มในอนาคตคาดว่าปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.5 – 4.5% ทั้งนี้ มาจากความมั่นใจของนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือนแรก มีมูลค่า 6 – 7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะทะลุเป้าหมาย 7 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน

สำหรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในประเทศขณะนี้ก็เริ่มดีขึ้น แม้ปี 2557 จะมีนักท่องเที่ยว 25 ล้านคน ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมี 26.7 ล้านคน แต่ในเดือนตุลาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 2.2 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติ และคาดว่าในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงคนไทยทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี สร้างความประทับใจและความอุ่นใจแก่นักท่องเที่ยว ช่วยกันทำบ้านเมืองให้น่าอยู่สะอาด มีความปลอดภัยและเพื่อสร้างบรรยากาศส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการควบคุมสินค้าและบริการต้องให้มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนในเวลานี้ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่สร้างรายได้หลักของภาคเกษตร โดยในระยะเร่งด่วน รัฐบาลได้พยายามช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท จำนวนรายละไม่เกิน 15 ไร่ ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว รัฐบาลได้ดำเนินการต่าง ๆ ทั้งมาตรการลดต้นทุนการผลิต การเพาะปลูก ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในรายได้

นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง และนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบแล้วทั้งมาตรการส่งเสริมสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) เพื่อบริหารจัดการและดูแลบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

ส่วนอีกเรื่องที่จะต้องมีการขับเคลื่อนโดยเร่งด่วนคือเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าไปทันสถานการณ์โลก และสามารถรองรับการแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ หรือการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันและได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทั้งฝ่าย ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โดยขณะนี้กำลังเสนอกฎหมายเพื่อตั้งคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการรองรับการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน

รวมทั้งรัฐบาลได้มีการดำเนินการวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนแล้ว ดังนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการจัดทำแผนลงทุนทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง และเอื้อต่อการท่องเที่ยว

อีกทั้งรัฐบาลได้มีการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งการกำหนดพื้นที่ สิทธิและประโยชน์เพื่อชักจูงการลงทุน และกำลังวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ผังเมือง ศูนย์บริการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ตลอดจนการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ

พร้อมทั้งได้มีการปฏิรูปนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านต่างๆ โดยเน้นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่พืชผลทางการเกษตรของประเทศ การประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการนำขยะมาสร้างและพัฒนาให้เป็นพลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะที่ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด ไม่มีมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและของโลก โดยเน้นการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ส่วนเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ไทยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงจะต้องส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงิน และการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมทั้งการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนมาเป็น “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564)” นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรการส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงหลายประการ ได้แก่ ลดสิทธิและประโยชน์พื้นฐานลง แต่เสริมด้วยสิทธิและประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตนเอง เช่น ลงทุนวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง ยกเลิกสิทธิและประโยชน์ตามเขตการลงทุน แต่ยังให้สิทธิและประโยชน์พิเศษเพิ่มเติมแก่การลงทุนใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดยากจน 20 จังหวัด ให้ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 3 ปี เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันกำหนด 5 เขต และอาจกำหนดเพิ่มเติมในอนาคต โดยได้กำหนด 2 รูปแบบ คือ กิจการทั่วไปให้ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 3 ปี และกิจการเป้าหมาย ให้สูงสุด คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้

กึ่งหนึ่ง 5 ปี เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด 4 อำเภอ ให้สูงสุด คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้กึ่งหนึ่ง 5 ปี

รวมทั้งให้สิทธิและประโยชน์แก่ SMEs ไทย และเพิ่มบทบาทการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยให้มีความสำคัญควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน จนเกิดเป็น “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564)” ในครั้งนี้ รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมจะเป็นผู้สนับสนุนในทุกด้าน ทั้งการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน การจัดหาตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในประเทศและชาวต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ