การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ ครั้งที่ 5 แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS)

ข่าวทั่วไป Tuesday December 16, 2014 17:55 —สำนักโฆษก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) กำหนดการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อหลักคือ “ความมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน GMS (Committing to Inclusive and Sustainable Development in the GMS)”

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ และมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เป็นประธาน โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกเข้าร่วม ได้แก่ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและ นายเหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมและนายทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานอีกกว่า 500 คน

การประชุมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม โดยเป็นการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้อง 4 เรื่องด้วยกัน คือ (1) การประชุมด้านการลงทุนของลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Investment Forum) (2) การประชุมของภาคธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขง(GMS Business Forum)(3) การประชุมของหุ้นส่วนการพัฒนา (Development Partner’s Roundtable) และ (4) การประชุมของกลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Youth Forum) เพื่อสร้างความตระหนักในภาคธุรกิจต่อศักยภาพในการพัฒนาของอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มตัวแทนเยาวชนจากประเทศสมาชิก GMS ในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญของอนุภูมิภาค ซึ่งผลการประชุมทั้ง 4 เรื่อง จะนำไปรายงานต่อผู้นำกลุ่มประเทศ GMS ในการประชุมสุดยอดผู้นำในวันที่ 20 ธันวาคม

ในการประชุม ผู้นำจะร่วมกันให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการตามกรอบการลงทุนภูมิภาค (Regional Investment Framework Implementation Plan: RIF IP) ซึ่งเป็นแผนการนำกรอบแผนการลงทุนของอนุภูมิภาค (GMS Regional Investment Framework: RIF) ที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ไปสู่การปฏิบัติ

โครงการภายใต้ RIF นั้น ประกอบด้วย10 สาขา 215 แผนงาน มูลค่ารวม 51.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วยโครงการลงทุน 123 โครงการ มูลค่า 51,278. ล้านดอลลาร์ สรอ. และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ 92 โครงการ มูลค่า 222 ล้านดอลลาร์ สรอ. ได้แก่ สาขาคมนาคมสาขาพลังงาน สาขาเกษตร สาขาสิ่งแวดล้อม สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาขาการพัฒนาเมือง สาขาท่องเที่ยวสาขาการอำนวยความสะดวกทางคมนาคมและการค้าสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาขาความร่วมมืออื่นๆ ในส่วนของประเทศไทย ประกอบด้วยโครงการลงทุนและโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 78 โครงการ มูลค่ารวม 5,475.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 177,960 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของโครงการลงทุน RIF ทั้งหมดใน GMS โดยประเทศไทยมีส่วนร่วมในแผนงานด้านคมนาคมมากที่สุด (มูลค่ารวม 4,873.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 158,392 ล้านบาทหรือกว่าร้อยละ 89 ของโครงการประเทศไทย) โดยมีโครงการสำคัญคือ โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างบางใหญ่-กาญจนบุรี (เพื่อเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพ-ทวาย ในอนาคต) มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญ สรอ. (หรือประมาณ 65,000 ล้านบาท) รองลงมาคือแผนงานด้านพลังงาน (มูลค่ารวม 281.9 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 9,161.75 ล้านบาท) แผนงานด้านเกษตร (มูลค่ารวม 212.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6,906.25 ล้านบาท) และแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม (มูลค่ารวม 71.4ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 158,392 ล้านบาทหรือประมาณ 2,320.5 ล้านบาท) ตามลำดับโดยที่RIF IP จะมุ่งเน้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนในภูมิภาค เพื่อให้ได้โครงการในลำดับความสำคัญสูง (โดยโครงการในลำดับความสำคัญสูงสุดของไทยคือ โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างบางใหญ่-กาญจนบุรี)เพื่อให้เกิดการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ จากทั้งภาครัฐ เอกชนและหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ระบุถึงการมีระบบติดตามและประเมินผลการปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อให้ RIF มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ อย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาของอนุภูมิภาคในระยะต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญของแผนงาน GMS ในช่วงที่ผ่านมา เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (The Regional Power CoordinationCentre in the Greater Mekong Subregion) การจัดตั้งสมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Railway Association: GMRA) การดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Trade Agreement: GMS CBTA) ซึ่งประเทศไทยคาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันครบทุกภาคผนวกได้ภายในปีนี้

การจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 5ของแผนงาน GMS ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะแสดงความพร้อม ความน่าเชื่อถือ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคในเชิงรุก ซึ่งการประชุมดังกล่าว ถือเป็นเวทีการหารือระดับสูงสุดของความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามแผนงานความร่วมมือ GMS ซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุก 3 ปี และเปิดโอกาสให้ผู้นำประเทศได้ร่วมทบทวนและประเมินผลความคืบหน้าของแผนงาน ยืนยันความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและเป้าหมายร่วมกัน ให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่แผนงาน และโครงการกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งมอบแนวทางในภาพรวมแก่โครงการ ความริเริ่มหลักของแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศในระยะต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ