โครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา และหมู่บ้านรักษาศีลห้า

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 2014 11:08 —สำนักโฆษก

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา และโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีลห้า” โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์

อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม – พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา และโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีลห้า” โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยเจ้าคณะภาค/จังหวัด ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงฆ์ ผู้แทนสำนักแม่กองธรรมสนามหลวง พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งพระ ประชาชน ผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 1,500 รูป/คน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารหอประชุมพุทธมณฑล

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินโดยได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกกลุ่มวัยให้มีความพร้อมทั้งทางกาย ใจ สติปัญญา มีระเบียบวินัย มีจิตสำนึกในวัฒนธรรมที่ดีงามและรู้คุณค่าความเป็นไทย มีโอกาสและสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นพลังทางสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ศธ.ได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินการขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน มีการศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ปลูกฝังค่านิยมหลัก 12 ประการ ซึ่ง ศธ.ร่วมมือกับสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง วธ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนธรรมศึกษาและครูพระสอนศีลธรรม เป็นการปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนากระบวนการคิด ทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา การปลูกฝังค่านิยม 12ประการ รวมทั้งการเรียนรู้ประสบการณ์จากการจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย และการวางพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

จากความมุ่งหวังดังกล่าว จึงได้นำไปจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในปีการศึกษา 2558 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี โดยบูรณาการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและพัฒนาต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาจนสำเร็จตามหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นเอก ตามวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจในด้านหลักธรรม พุทธประวัติ พระวินัย ตลอดจนการฝึกแต่งแก้กระทู้ธรรมและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อความผาสุกและความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวไทยตลอดไป

หลังจากนี้ ศธ.จะมีการกำหนดการอบรมครูพระสอนธรรมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 20,000 รูป ในเดือนมกราคม 2558 เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการเรียนการสอน และในวันที่ 4 มีนาคม 2558 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา เจ้าคณะจังหวัดและผู้บริหารสถานศึกษาจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่จะเปิดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในปีการศึกษา 2558 โครงการดังกล่าวจะเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติต่อไป

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวว่า พระพุทธศาสนาจะมั่นคงอยู่ได้ต้องอาศัยทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เพื่อช่วยกันผลักดัน ขับเคลื่อนและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ ศธ.ที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา การส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนของชาติ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะสัมฤทธิ์ผลในระยะยาวได้จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการอบรม ระบบการบริหารจัดการ การดูแล การวางแผน การเอาใจใส่ การสร้างความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานไปสู่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้ได้ผล ประกอบด้วย 1) คณะสงฆ์ต้องให้การสนับสนุนด้วยครูผู้สอน สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน 2) ผู้บริหาร ศธ.ต้องเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา โดยกำหนดในหลักสูตรการเรียนการสอน และปลูกฝังให้แก่เด็กและเยาวชน 3) ต้องมีการจัดและประเมินผลร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ศธ.และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

นอกจากนี้ การจะสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวนั้น คนไทยทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามหลักศีลห้า ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ความขัดแย้งของคนในสังคม ปัญหายาเสพติด และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สำหรับโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ฯ มีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรมในหลายจังหวัด กล่าวคือหมู่บ้านที่ดำเนินการได้ผลร้อยละ50 ขึ้นไป จะได้รับป้าย “หมู่บ้านรักษาศีลห้า” สำหรับหมู่บ้านที่ดำเนินการได้ร้อยละ 80 ขึ้นไป จะได้รับโล่เพื่อเป็นการประกาศยกย่องหมู่บ้านนั้น ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการประสานขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ร่วมกับคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเครือข่าย และได้ขยายผลครอบคลุมทุกจังหวัด ทั้งนี้ เห็นว่าการประชาสัมพันธ์เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้แพร่หลาย และครบทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ฯ โดยจะมอบป้ายโครงการเพื่อนำไปติดที่สถานศึกษาทั่วประเทศ

สุดท้ายนี้ ขออนุโมทนาสาธุแก่ผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาและโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีลห้า” รวมถึงรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนทั้งสองโครงการ และหวังว่าทุกฝ่ายจะให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญโครงการดังกล่าว เพื่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์สืบไป

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

24/12/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ