5 ปี กรมหม่อนไหม มุ่งมั่นสืบสานงานพระมารดาแห่งไหมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 2014 17:34 —สำนักโฆษก

5 ปี กรมหม่อนไหม มุ่งมั่นสืบสานงานพระมารดาแห่งไหมไทย

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในโอกาสวันสถาปนากรมหม่อนไหมครบรอบ 5 ปี ซึ่งตั้งเป้ามุ่งเน้นการอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาวงการหม่อนไหมไทย ด้วยการสืบสานงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การอนุรักษ์เส้นไหมไทยพื้นบ้าน ตลอดจนการพัฒนายกระดับอาชีพเกษตรกรไหมไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดด้วยระบบสารสนเทศ

ด้าน นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมตั้งขึ้นโดยพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระองค์ทรงให้ความสำคัญและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาโดยตลอด และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านหม่อนไหมโดยตรงทั้งระบบ จนนำมาสู่การจัดตั้งกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 เพื่อสนองและพระราชประสงค์ ในการที่จะอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาไหมไทย ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและงานหัตถกรรมไหมไทย รวมทั้งพัฒนางานวิชาการด้านหม่อนไหมให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร

กรมหม่อนไหมได้ครบรอบปีที่ 5 แห่งการสถาปนา ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่สืบสานงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งงานด้านการพัฒนา การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุกรรมหม่อนไหม การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหม่อนไหม การส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านหม่อนไหม รวมทั้งการส่งเสริมเอกลักษณ์และการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับหม่อนไหม รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ และนโยบายของรัฐบาล ในการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม ลดอุปสรรคในการส่งออกเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ปรับปรุงวิธีการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานการผลิตระดับไร่นา การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการด้วยวิธีการต่าง ๆ และสนับสนุนให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผลจนถึงการแปรรูปและการส่งออกได้ การขยายตลาดสินค้าเกษตรที่ขายตรงโดยเกษตรกร โดยเฉพาะการสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเน้นการอนุรักษ์เส้นไหมไทยพื้นบ้านเป็นสำคัญ ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์ไทยพื้นบ้านมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศเวียดนามได้รับจดทะเบียนเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI แล้ว และกำลังยื่นขอจดทะเบียนผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง จ.ศรีสะเกษ และผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ ให้ขึ้นทะเบียน GI เป็นลำดับต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของเส้นไหมไทยของไทยในเวทีสากล เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 แล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยอนุรักษ์อาชีพและภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมให้คงอยู่ต่อไป

กรมหม่อนไหมยังได้เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรด้วยการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค/สวทช.) เปิดตัวระบบบริหารการจัดการกระบวนการตลาดและผลผลิตไหมไทย ด้วย Mobile Thai Silk บนปฏิบัติการAndroit เป็นครั้งแรก เพื่อยกระดับศักยภาพ Small Farmer หม่อนไหมสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยตั้งเป้า ยกระดับอาชีพเกษตรกรไหมไทย ก้าวไกลสู่ตลาด ด้วยระบบสารสนเทศ ซึ่งเชื่อมั่นเกษตรกร ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไหมไทย จะได้รับประโยชน์จากการจัดการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดตลาดไหมไทยออนไลน์ที่กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรงและเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังคงดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ปลูกหม่อนไหมเลี้ยงไหม อันเนื่องมาจากพระราชดำริกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือAEC ในปี 2558 นี้ กรมหม่อนไหมได้มีการเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเฉพาะมาตรฐานการผลิตด้านหม่อนไหมทั้งระบบ อาทิ มาตรฐานผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน เส้นไหมตามมาตรฐาน มกษ 8000 – 2555 เป็นต้น ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรในเรื่องคุณภาพของสินค้าหม่อนไหมได้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ขณะเดียวกันก็ได้ผลักดันให้มาตรฐานหม่อนไหมดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานของAEC ด้วย

กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์

โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871

moacnews@gmail.com

www.moac.go.th

www.facebook.com/kasetthai

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ