นายกรัฐมนตรีย้ำการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วน กำชับทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้าผลักดันการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ทุกมิติ และรายงานผลทุกเดือน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 7, 2015 15:35 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแผนงานของ 5 คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ค้ามนุษย์ในทุกมิติทั้งในภาคประมง การค้าประเวณีเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานต่างด้าว เป็นต้น โดยกำชับทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการในทันทีและให้รายงานผลอย่างต่อเนื่อง ย้ำชัดทุกคดี ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องไม่ว่าจะระดับใด ต้องเร่ง ดำเนินการลงโทษให้สมกับความผิด พร้อมมอบ กต. ให้ข้อมูลต่างชาติ ทั้งภาครัฐ สื่อ และองค์การระหว่าง ประเทศ เป็นระยะ เพื่อให้ตระหนักถึงความจริงจังของไทยในการแก้ไขปัญหา ย้ำรัฐบาลไทยจัดให้ การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วน เพราะไทยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนและต้องการ คุ้มครอง ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้น

วันนี้ (7 ม.ค.58) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีอีก 4 คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อองค์ประกอบคณะอนุกรรมการจำนวน 5 คณะที่นายกรัฐมนตรีได้เคย มีบัญชาให้จัดตั้งขึ้นในที่ประชุมเรื่องค้ามนุษย์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ตลอดจนแผนงานของ แต่ละคณะอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน 2) คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน 3) คณะอนุกรรมการ แก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน 4) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) มีรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน 5) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน โดยทั้ง 5 คณะอนุกรรมการมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นที่ปรึกษา กำกับดูแล และให้คำแนะนำต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทั้ง 5 คณะอนุกรรมการเร่งดำเนินงานตามแผนงาน ที่เสนอมาในทันทีและรายงานผลให้นายกรัฐมนตรีรับทราบโดยเร็วที่สุดและต่อเนื่องทุกเดือน

ตัวอย่างประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมายเร่งจัดทำแผนงานระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ และเร่งดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงให้แล้วเสร็จ ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนเรือประมงไทยและการออกใบอนุญาต ทำการประมงให้ถูกกฎหมาย มีการติดระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง (VMS) เรือประมงไทยทุกลำให้เสร็จสิ้น ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้

สำหรับกรณีที่เคยพบว่ามีนายจ้างใช้แรงงานเด็กอย่างเลวร้ายในภาคการเกษตรและกิจการภาคประมง นั้น กระทรวงแรงงานได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นในระยะที่ผ่านมา จนสามารถตรวจพบ การกระทำความผิดและดำเนินคดีได้แล้ว 7 คดี ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีกับเจ้าของเรือ/ไต้ก๋งที่กระทำผิดกฏหมายและช่วยเหลือแรงงานที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ที่ จว. ตรัง จำนวน 14 คน และตรวจพบสถานประกอบการที่ใช้เด็กทำงานอีกจำนวน 1,264 แห่ง อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานจะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสถานประกอบการ และในพื้นที่การเกษตรให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา นั้น พบว่ามีมากกว่า 300 คดี ซึ่งรวมถึงคดีที่เจ้าหน้าที่ข่มขู่กรรโชกจากเหยื่อการค้ามนุษย์ และคดีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอิทธิพลเข้าไปคุ้มครองสถานบริการผิดกฏหมายและโรงงานต่างๆ ทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการดำเนินการในลักษณะของการรวบรวมสำนวนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม เพื่อให้ส่งเข้าสู่กระบวนการพิพากษาของศาลยุติธรรมได้ทันที และในกรณีที่มีผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับใด ขอให้เร่งการดำเนิน คดีอาญา/แพ่งอย่างจริงจังและเด็ดขาดเพิ่มเติมด้วย มิใช่เป็นการเอาผิดด้วยการดำเนินการทางวินัยเท่านั้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเจรจา MOU เรื่องประมงกับ ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ได้โดยเร็ว โดยไทยพร้อมที่จะเป็นผู้ริเริ่มผลักดันการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหา การค้ามนุษย์ในภาคประมงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รายงานความคืบหน้าต่อประเด็นที่รายงานสถานการณ์ การค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2557 (ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลผลการดำเนินการของรัฐบาลไทยในอดีต ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556-เมษายน 2557) ได้เคยกล่าวหาไทยว่ายังทำได้ไม่ดีพอใน 6 ประเด็น (คือ การที่ลูกเรือ ประมงไม่มีสัญญาจ้าง รัฐบาลไม่มีความพยายามพอในการปรับปรุงสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมประมง รัฐบาลยังไม่ผ่านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การจดทะเบียนแรงงานยังคิดค่าธรรมเนียมสูงไปมาก การออกกฎหมายให้หักเงินคนงานสมทบเข้ากองทุนเพื่อการส่งกลับคนต่างด้าว และการส่งแรงงานไทยไปทำงาน ต่างประเทศถูกคิดค่านายหน้าในราคาเกินกว่าที่กำหนด) ว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการคืบหน้า ไปแล้วในหลายประเด็น เช่น ได้แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานในภาคการเกษตรและในภาค แรงงานประมงทะเล เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม และ 30 ธันวาคม 2557 ตามลำดับ ข้อกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า อายุของเด็กต้องไม่ต่ำกว่า 15 ปีในภาคการเกษตร และไม่ต่ำกว่า 18 ปีในงานประมงทะเล รวมทั้งบังคับให้ต้องมีการจัดทำสัญญาจ้างก่อนลงเรือ การกำหนดให้ นายจ้างต้องอนุญาตให้แรงงานมีเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม กำหนดการจ่ายเงินโดยห้ามหักค่าใช้จ่าย และมี รายละเอียดอื่นๆ ในการคุ้มครองแรงงานให้ได้ระดับมาตรฐานสากล โดยขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดทำ สัญญาจ้างต้นฉบับเป็นภาษาไทย และฉบับภาษาอังกฤษ ควบคู่กับภาษากัมพูชา ลาว และเมียนมาร์อีก 3 ฉบับ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งกำลังเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงานประมงให้ครบทั้งใน 22 จังหวัด ชายทะเล ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอและนายจ้าง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ที่คุ้มครองเหยื่ออ่อนแอตามนโยบาย คสช. เป็นต้น ในส่วนของการคุ้มครองดูแลแรงงานต่างด้าว นั้น กระทรวงแรงงานได้จัดสายด่วนรับเรื่องราวร้องทุกข์สายด่วน 1546 และ 1694 พร้อมล่ามภาษาเมียนมาร์ กัมพูชา และอังกฤษ โดยในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค. 57 - ธ.ค. 57) มีผู้ร้องเรียนผ่านสายด่วนแรงงานร้องทุกข์ 1964 แล้วจำนวน 79,796 ราย (สำหรับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ในประเทศไทยนั้น ขณะนี้มียอดรวมแล้วทั้งสิ้น 1 ล้าน 6 แสน คนเศษ และอยู่ในระหว่างการรอการยืนยันการตรวจสัญชาติจากประเทศต้นทาง เป็นต้น

ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำข้อมูลสรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ค้ามนุษย์ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ อยู่ในระหว่างการรวบรวมและจัดทำขึ้นร่วมกับ หน่วยงานราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ภายในวันที่ 30 มกราคม ศกนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการจัดทำรายงานที่ชัดเจนตามข้อเท็จจริง ทั้งที่เป็นผลการดำเนินการ ที่มีความคืบหน้าไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรม และให้แจ้งข้อมูลในส่วนของประเด็นที่ไทยเองก็ตระหนักดีว่า ยังมีข้อบกพร่องด้วย (หากมี) โดยให้ระบุด้วยว่า ขณะนี้ หน่วยงานใดของไทยเป็นผู้รับผิดชอบและกำลัง เร่งดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องนั้นอย่างไร มีเป้าหมายที่จะดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเมื่อใด โดยการให้ข้อมูลกับฝ่ายสหรัฐฯ นั้น จะต้องครอบคลุมผลงานสำคัญ ตามหลักมาตรฐานสากล 5P คือ Policy and Mechanism ด้านนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ Prosecution ด้านการดำเนินคดี และการบังคับใช้กฎหมาย Protection ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ Prevention ด้านการป้องกัน และ Partnership and International Cooperation ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและความร่วมมือระหว่าง ประเทศ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำชัดว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหา ค้ามนุษย์ในทุกมิติเพราะเป็นเรื่องของการดูแลคุ้มครองคนตามสิทธิมนุษยชนที่แต่ละคนมี ให้ทุกคนสามารถมี ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จึงขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการในส่วนที่ ตนรับผิดชอบเพื่อให้การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว มิใช่เป็นเพียงแผนงานหรือการให้คำสัญญาอย่างเลื่อนลอย

สำหรับการดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ นั้น นายกรัฐมนตรีได้ มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลชี้แจงและทำงานร่วมกับรัฐบาลต่างชาติ องค์การระหว่างประเทศ และ NGOs ต่างๆ เป็นระยะ ทั้งนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศจะแถลงผลการดำเนินการเรื่องการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยในภาพรวมอีกครั้ง ในวันที่ 12 มกราคม 2558 ที่กระทรวงการต่างประเทศ รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ