กระทรวงศึกษาธิการ : ผลการดำเนินงานด้านการศึกษาในรอบ 3 เดือน

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2015 16:04 —สำนักโฆษก

สรุปผลการดำเนินงานด้านการศึกษาในรอบ 3 เดือนของกระทรวงศึกษาธิการ (กันยายน-ธันวาคม 2557) ความก้าวหน้าตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา และทิศทางการดำเนินงานด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การบริหารงานของพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

1. การดำเนินงานด้านการศึกษาช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 โดยได้กำหนดนโยบายไว้ 11 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 ที่ระบุให้รัฐบาลมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะที่มีภารกิจในการจัดและส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยมีบทบาทหลักดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในข้อที่ 4 นโยบายการศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังเป็นส่วนราชการที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายที่ 1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ นโยบายที่ 2 นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ นโยบายที่ 7 นโยบายการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน นโยบายที่ 8 นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม และนโยบายที่ 10 นโยบายการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 3 เดือน นับตั้งแต่ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 จนถึงเดือนธันวาคม 2557 ได้มีผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านต่างๆ ดังนี้

นโยบายที่ 1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

  • ได้จัดงาน “เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2557 ณ บริเวณโดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์และปฏิญาณตนเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน
  • จัดกิจกรรมคาราวานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ โดยให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งในส่วนกลางจัดข้าราชการออกไปบำเพ็ญประโยชน์ในสถานที่ต่างๆ อาทิ วัด โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา
  • จัดโครงการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ โดยจัดประชุมผู้บริหาร กศน. ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอใน 4 ภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนัก เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในชาติ รวมทั้งสามารถนำไปถ่ายทอดแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทุกภาคส่วน

นโยบายที่ 2 การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ

  • ดำเนินโครงการรณรงค์และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โดยเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกัน

ยาเสพติดแก่เด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งทั่วประเทศ 20,000 แห่ง

  • จัดกิจกรรมป้องกันเด็กและเยาวชนก่อนวัยเสี่ยงให้มีภูมิคุ้มกันยาเสพติด ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • จัดทำคู่มือจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 และส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับโรงเรียนและสถานศึกษาเป้าหมายทุกแห่งทั่วประเทศ ที่เป็นสถานศึกษาขยายโอกาสมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน
  • ดำเนินโครงการ To Be Number One โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง
  • ดำเนินการจัดตั้งและการดำเนินงานศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” ณ สำนักงานศึกษาธิการ ภาค 12 จังหวัดยะลา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้การดำเนินงานทุกหน่วยในพื้นที่ให้มีเอกภาพและบูรณาการงานของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและความสันติสุขอย่างยั่งยืน พัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้มีคุณภาพ จัดค่ายพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ จัดค่าย O–NET ม.6 และ ป.6 จัดกิจกรรมสนับสนุนการฝึกอาชีพในโรงเรียนและกิจกรรมเข้าค่ายอาเซียนสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา จัดสรรเงินอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะ สำหรับเป็นค่าบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะ จำนวน 373 แห่ง จัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกเพื่อผลิตและพัฒนาอาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาชุดนวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย หลักสูตร 350 ชั่งโมงอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้เป็นหลักสูตรต้นแบบในการสอนภาษาไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพัฒนาครูเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการสอนภาษาไทย จำนวน 4 หลักสูตร

นโยบายที่ 4 การศึกษาและการเรียนรู้ ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

  • มุ่งมั่นที่จะนำการศึกษามาสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม โดยเร่งปฏิรูปการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาซึ่งใช้ผลประเมินเป็นโจทย์ในการพัฒนา นำแนวทางการสอบ PISA มาใช้ขับเคลื่อนระบบการวัดและประเมินสมรรถนะผู้เรียน
  • ดำเนินโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พัฒนาทักษะการเรียนรู้ และคุณลักษณะการเป็นพลเมืองไทยที่ดี โดยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยใช้ระบบ Coaching Team และ Teacher’s Feedback
  • ดำเนินกิจกรรมยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตเป้าหมาย เพื่อยกระดับผลทดสอบระดับชาติ (O-NET) ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดำเนินการส่งเสริมผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ (เด็กอัจฉริยะ) เพื่อเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

ด้านการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ยากจนหรือด้อยโอกาส

  • ศธ.ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในภาคเรียนที่ 2/2557 และภาคเรียนที่ 1/2558 มีผู้เรียนได้รับการสนับสนุน จำนวน 11,591,627 คน
  • ดำเนินการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในปีการศึกษา 2557 สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่จำนวน 54,946 ราย
  • โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว จำนวน 4 รุ่น มีผู้ได้รับทุน 3,093 คน ให้ไปเรียนต่อในสาขาตามที่สนใจในต่างประเทศ และมีการปรับแนวทางการดำเนินงานที่การส่งเสริมให้ไปเรียนสายอาชีวศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านกำลังคนของประเทศในสายอาชีวะจำนวนมาก ทั้งภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้า และเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ที่จบสายอาชีวะโดยตรงจากต่างประเทศ
  • ดำเนินงาน กศน.ตำบล จำนวน 7,424 แห่ง โดยจัดบริการการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกหล่น ยากจน และไร้ที่พึ่ง อันเนื่องมาจากอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือยากลำบากในการคมนาคม ติดต่อสื่อสารเด็ก/เยาวชนที่ออกกลางคันจากระดับการศึกษาภาคบังคับ กลุ่มผู้จบการศึกษาภาคบังคับแต่ไม่ได้เรียนต่อ กลุ่มเด็ก/เยาวชนเร่ร่อน/ไร้บ้าน กลุ่มเด็ก/เยาวชน/บุตรกรรมกรก่อสร้าง

ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  • นำเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเข้ามาใช้ โดยจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. จำนวน 15,369 โรง ครอบคลุมผู้เรียน จำนวน 1,015,974 คน และได้เตรียมการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การศึกษานอกระบบในวัดแบบไม่เป็นทางการ เชื่อมโยงระหว่างบ้าน-วัด-โรงเรียน (บวร) เข้าด้วยกัน โดยการจัดการเรียนการสอนในขั้นพื้นฐาน อาทิ จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดค่ายพักแรมลูกเสือเนตรนารี เป็นต้น การจัดการศึกษาต่อเนื่อง (ฝึกอาชีพระยะสั้น)
  • ดำเนินโครงการจัดการความรู้เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งชุมชน โดยส่งเสริมจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนในระดับต่ำกว่าปริญญา การศึกษาเพื่ออาชีพ และจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรเพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายการให้บริการ 15,025 คน ใน 44 ชุมชนทั่วประเทศ

การส่งเสริมค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

  • ดำเนินการจัดกิจกรรมค่าย “เยาวชนคนรุ่นใหม่ใฝ่ค่านิยม” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักศึกษา ประชาชน จำนวน 64,900 คน ใน 928 อำเภอทั่วประเทศ
  • ดำเนินโครงการส่งเสริมความเป็นพลเมือง โดยผ่านทักษะการอ่านคำกลอน “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” สำหรับผู้เรียนประถมศึกษา การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาล "มหาวิทยาลัยโปร่งใส บัณฑิตไทยไม่โกง" โดยใช้หลักค่านิยม 12 ประการ คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ครอบครัว ศาสนา และชุมชน ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง รวมทั้งจัดทำบทเรียนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม
  • กิจกรรมการพัฒนาผู้บริหารและครูเอกชนในระดับจังหวัด เรื่อง การคิดวิเคราะห์การเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความพอเพียง การเสริมสร้างค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ที่มีเป้าหมายเป็นผู้บริหารและครู จำนวน 30,180 คน

ด้านการส่งเสริมอาชีวศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ

  • ออกประกาศเรื่อง มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ากรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา
  • จัดงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” เพื่อสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดอาชีวศึกษา

ระบบทวิภาคี ส่งเสริมสนับสนุนให้มีผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทวิภาคีให้มากขึ้น

  • ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถานประกอบในการพัฒนาและผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา อาทิ ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย หอการค้าไทย และกลุ่มมิตรผล เพื่อผลิตกำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและภาคบริการ โดยนำร่องในวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 6 แห่ง ใน 3 จังหวัด ข้อตกลงความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านการควบคุมเรือประมง ในระยะเวลา 3 ปี มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 4 แห่ง ข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรผลิตกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาพาณิชยกรรม สาขาธุรกิจค้าปลีก เพื่อป้อนอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศ

การพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เน้นครูผู้สอนให้มีวุฒิตรงตามที่สอน

  • ดำเนินโครงการผลิตครูมืออาชีพ ในรูปแบบประกันการมีงานทำ เพื่อผลิตครูคุณภาพและแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ในปี 2557 มีนิสิตนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 และกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษา ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,047 คน ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูเรียบร้อยแล้ว
  • ดำเนินการพัฒนาครูผู้สอนในทุกระดับการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน อาทิ จัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ครู สควค.) เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เตรียมการพัฒนาบุคลากรด้านการวัดผลประเมินผลที่เน้นการคิดวิเคราะห์ตามแนวทาง PISA วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ความรู้ สามารถนำไปจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การแก้ไขปัญหาความขาดแคลนครู ศธ.ได้จัดทำประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง กำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาขาดแคลน ด้านอาชีวศึกษา (9 ประเภทวิชา 86 สาขาวิชา) จัดทำแนวทางปฏิบัติในการออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กรณีผู้มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาวิชาขาดแคลน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยที่มีเหตุพิเศษ ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่นมาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และพัฒนาระบบเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังครูในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา

นโยบายที่ 7 การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน

  • ได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (post 2015) พ.ศ. 2559 – 2563
  • จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาเซียนศึกษาในหน่วยงานในสังกัด เพื่อประสานและขับเคลื่อนความเข้าใจ ส่งเสริมต้นแบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงด้านภาษา
  • จัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม
  • พัฒนาโรงเรียนมาตรฐานสากล หลักสูตรภาษาอังกฤษ EP MEP EIS ในสถานศึกษา
  • จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
  • ดำเนินการพัฒนาทักษะการเรียนการสอน ด้านภาษาอังกฤษและ ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาครูวิทยากรแกนนำการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ English Bilingual Education (EBE)
  • จัดค่ายวิชาการภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนภายในเดือนมกราคม 2558

นโยบายที่ 8 การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม

  • มุ่งเน้นการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้กับการทำงาน การให้บุคลากรด้านการวิจัยของภาครัฐสามารถไปทำงานภาคเอกชน และสามารถสร้างสังคมนวัตกรรม โดยสนับสนุนทุนให้แก่มหาวิทยาลัยภายใต้โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา 70 แห่ง รวมทั้งสิ้น 538 โครงการ สนับสนุนผลงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ดำเนินโครงการบูรณาการการยกระดับการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล โดยพัฒนาและขยายผลอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับเยาวชน
  • ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ปีการศึกษา 2557 ซึ่งมีนักเรียนสมัครสอบเข้าแข่งขันจำนวน 131,740 คน
  • ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตครูผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โดยสรรหาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 1,136 คน

นโยบายที่ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

  • ได้กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการให้ความรู้กับบุคลากรในสถาบันการศึกษา และกระบวนการจัดการโดยการวางระบบ และให้ ป.ป.ช. จังหวัดมีส่วนร่วมกับโครงการขนาดใหญ่
  • ดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา “ป้องกันการทุจริต” โรงเรียนสุจริต
  • จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงาน Best Practice “โรงเรียนสุจริต ผลิตนวัตกรรม นำสู่การปฏิบัติ” โดยมีผู้ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยนักเรียน ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์/นักวิชาการ

ข้อมูล : สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี สรุป/รายงาน

2/1/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ