คตช. หารือเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรมของการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนของภาครัฐ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 14, 2015 17:50 —สำนักโฆษก

ที่ประชุม คตช. ย้ำกลไกสำคัญของข้อตกลงคุณธรรม ต้องโปร่งใส เท่าเทียม การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของภาคประชาชน และความซื่อสัตย์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (14 มกราคม 2558) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 1/2558 โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรม

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ และผู้แทนฯ ซึ่งประกอบด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น และนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมรับทราบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานที่ร่วมกันต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดูแลติดตามการทุจริตอยู่ในกระทรวงยุติธรรมด้วย ส่วนองค์กรอิสระคือ ปปช. ซึ่ง 3 หน่วยงานจะร่วมจัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกัน และเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมทั้ง ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้านป้องกัน และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ

รวมทั้งสรุปแนวทางในการทำงานที่สำคัญ คือ 1) การต่อต้านการทุจริตจะต้องมีการจัดกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพื่อที่จะแยกการดำเนินการ 2) การจัดกลุ่มประเภทของกิจการหรือเรื่องที่มีการทุจริตเป็นประจำ 3) การจัดกลุ่มวิธีการที่จะเข้าไปจัดการ 4) การขอรับประโยชน์จากภาครัฐ 5) กลุ่มทุจริตการใช้ทรัพย์สินและงบประมาณของรัฐ รวมถึงมาตรการการป้องปราม การปลูกจิตสำนึกในการไม่ทุจริตหรือไม่โกง การปราบปราม และการประชาสัมพันธ์เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มติเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และโครงการนำร่องการใช้ข้อตกลงคุณธรรม (IP) ใน 2 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติของ ขสมก. จำนวน 489 คัน 2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ของ รฟม. (ร่างข้อตกลงคุณธรรม การแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ และคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม) พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ / คณะทำงานพิจารณาช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน

พร้อมทั้ง พิจารณาและหารือเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) คือ การตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและผู้ต้องการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐ ว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เรียกรับสินบนหรือประโยชน์อื่นใด รวมทั้ง ต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่สำคัญในทุกกระบวนการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่ และเปิดโอกาสให้บุคคลที่สาม ที่มาจากประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่เริ่มเขียน Term of Reference (TOR) หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือข้อกำหนดและขอบเขตของงาน จนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นผู้เสนอแนวคิดข้อตกลงฯ นี้ ซึ่งได้มีการนำไปใช้แล้วกว่า 300 โครงการ ใน 15 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมันนี เม็กซิโก และปากีสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ช่วยให้ประหยัดงบประมาณของรัฐและทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า จากเงินภาษีที่เสียไป ที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจในระบบการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการลงทุนของรัฐ

ทั้งนี้ ข้อตกลงคุณธรรมที่ใช้ในแต่ละประเทศนั้น มีการกำหนดรายละเอียดที่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นช่วงของการเริ่มต้น จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันและให้เวลาเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัว รวมถึงความไม่แน่ชัดของข้อขัดข้องทางกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกลไกสำคัญของข้อตกลงคุณธรรมนั้น ประกอบด้วย 1) สร้างความโปร่งใส ในการดำเนินโครงการด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเพียงพอในรูปแบบที่เหมาะสม 2) การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ของหน่วยงานราชการต่อเอกชนผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ขณะที่เอกชนผู้ร่วมประมูลงานก็ต้องมีความตั้งใจที่จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ ให้ดำเนินไปด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา 3) สร้างการมีส่วนร่วมคิดร่วมตรวจสอบของประชาชน 4) การมีเจตนารมณ์ร่วมกัน ของทุกฝ่ายที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ มีสิทธิเรียกดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้อย่างเต็มที่ แม้ไม่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ แต่ต้องสามารถตั้งข้อสังเกตในสิ่งที่คลุมเครือ หรือพฤติกรรมที่สงสัยหรือเห็นว่าอาจนำไปสู่การทุจริตได้ เพื่อให้มีการชี้แจงหรือปรับปรุงแก้ไขตามกรณี รวมถึงทำรายงานและส่งเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น

ที่มาของผู้สังเกตการณ์ จะคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความสามารถ ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์ โดยสรรหามาจาก 1. สถาบัน หรือองค์กรวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาวิชาชีพนักบัญชี สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น 2. สถาบันวิชาการและองค์กรต่างประเทศที่มีพันธะกิจในการต่อต้านคอร์รัปชัน และ 3. ภาคประชาสังคม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และองค์กรสมาขิก

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุท/รายงาน

ลัดดา/ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ