กระทรวงศึกษาธิการ : ปี 2558 ปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ข่าวทั่วไป Tuesday January 13, 2015 10:59 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประกาศนโยบาย “ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ของ สพฐ. เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2558 ที่อาคาร สพฐ. 4

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศนโยบายและกำหนดจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักค่านิยม 12 ประการ และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนดังกล่าว เรื่องของการอ่านออกเขียนได้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการเรียนรู้ด้านภาษา (Literacy) ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะนำไปสู่การเรียนรู้วิชาอื่นต่อไป

สพฐ.ได้สำรวจนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่ามีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาและมีทักษะการอ่านออกเขียนได้ที่ไม่สูงเท่าที่ต้องการ ดังนั้น สพฐ.จึงได้กำหนดให้มีกระบวนการพัฒนานักเรียนให้ปลอดจากการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยนำเอานวัตกรรมใหม่มาใช้เพื่อการพัฒนา และกำหนดเป็นมาตรการเร่งด่วนตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันดีวันหนึ่งที่ ศธ.ได้ประกาศนโยบายสำหรับปี 2558 ให้เป็น "ปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" เพราะปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่ามีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีจำนวนประมาณ 25,000-26,000 คนทั่วประเทศกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กติดตามมากับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าว หรือเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก

การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการทำให้เด็กได้มีการพัฒนาตนเอง หากอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การที่จะไปเรียนวิชาอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ทำให้เด็กทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาอ่านออกเขียนได้ มีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านและเขียน นี่คือหัวใจสำคัญของการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ศธ.มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เร่งรัด และพัฒนาการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ

การประกาศนโยบาย “ปี 2558 เป็นปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้”

ได้กำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการได้สนทนาแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาและนวัตกรรมการอ่านออกเขียนได้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

โดยปกติเมื่อมีการปรับระดับชั้น จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จะเพิ่มขึ้นในต้นปีการศึกษา การกำหนดระดับคุณภาพของคำว่า “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ของแต่ละระดับชั้นจะแตกต่างกัน กล่าวคือ นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จะหมายถึง การอ่านออก/อ่านไม่ออก และเขียนได้/เขียนไม่ได้ นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จะใช้คำว่า อ่านคล่อง/อ่านไม่คล่อง และเขียนคล่อง/เขียนไม่คล่อง สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 จะเป็นการอ่านออก อ่านรู้เรื่อง แต่สรุปใจความไม่ได้

เมื่อทราบว่านักเรียนมีจุดบกพร่องตรงไหน ก็จะวิเคราะห์ตัวนักเรียนเป็นรายบุคคล อีกทั้งจะมีการนิเทศ ติดตาม ใช้เครื่องมือประกอบการเรียนการสอน และแนะนำเทคนิคในภาพรวม ในการประกาศนโยบายในครั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะติดตามกระบวนการดำเนินงานของโรงเรียน สร้างความตระหนักให้กับผู้เกี่ยวข้อง คือ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียนให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จากนั้นจะมีการตรวจสอบนักเรียนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเป็นรายบุคคล และพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมที่ครูคิดค้นขึ้น

ในบางพื้นที่ที่มีเด็กชาติพันธุ์ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจน และโรงเรียนขนาดเล็กเป็นจำนวนมากจะมีปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยการกำหนดมาตรการให้แต่ละโรงเรียนไปดำเนินการ มีการทำแผนและแก้ไขปัญหาเป็นรายนักเรียน การทำบันทึกความร่วมมือของเขตพื้นที่การศึกษากับสถานศึกษาในการคิดค้นนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน สถานศึกษาหลายแห่งสามารถเป็นโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ จะเชิญผู้บริหารสถานศึกษาที่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา สำหรับสถานศึกษาที่มีบริบทแตกต่างกัน เช่น สถานศึกษาในพื้นที่สูง ก็จะมีการจัดประชุมสัมมนาของกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนระหว่างกัน เพื่อปรับการเรียนการสอนเพิ่มเติม และจะประกาศนโยบายให้สถานศึกษานำไปปฏิบัติและพัฒนาให้นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของ ศธ.ในการกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

สำหรับปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในระดับมัธยมศึกษา มีกระบวนการแก้ไขปัญหาคือ เมื่อรับสมัครนักเรียนเข้ามาแล้ว จะมีการคัดกรองในวันปฐมนิเทศ หลังจากนั้นจะเป็นเรียนปรับพื้นฐาน เพื่อแยกนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามรายวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย จากนั้นจะนำรายชื่อนักเรียนส่งให้ครูที่ปรึกษาเพื่อเก็บรายละเอียด แล้วส่งไปถึงครูผู้สอนแต่ละรายวิชา และทำเป็น “คลินิกหมอภาษา” โดยจะมีการตรวจการอ่าน การเขียน แยกกลุ่มนักเรียน คล้ายการคัดกรองผู้ป่วย ก่อนนำส่งไปแต่ละฝ่าย จัดทำทะเบียนกลุ่ม นัดวันและเวลาเพื่อให้นักเรียนฝึกอ่านและเขียนในเวลาที่ว่างจากการเรียน การแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน มีความสนใจและตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณ สพฐ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีความทุ่มเทในการทำให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ เชื่อว่านวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ การสร้างนวัตกรรมของแต่ละสถานศึกษาจะช่วยให้นักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เพราะสามารถชักจูง และมีจิตวิทยาเด็กในการใช้อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย นอกจากนักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว ต้องการให้สามารถคิด แก้ไขปัญหาตามระดับช่วงวัยได้ มีทักษะชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังทั้งจากครอบครัวและครู ในการสั่งสอนให้นักเรียนคิดและแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ในทุกช่วงวัย หากนักเรียนได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าจะสามารถออกไปเผชิญชีวิต เป็นอนาคตของชาติ และสามารถนำเอาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาไปช่วยเหลือตัวเองและสังคมได้เป็นอย่างดี

โอกาสนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย และขออำนวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ เพื่อให้เด็กไทยมีอนาคตที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการและผู้บริหาร สพฐ.ได้เยี่ยมชมนิทรรศการนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

12/1/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ