ความก้าวหน้าทางทันตกรรม เดนตีสแกน 3 มิติ สัญชาติไทย รักษาปลอดภัย ราคาประหยัด

ข่าวทั่วไป Monday January 19, 2015 17:01 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่นชมผลการดำเนินงานวิจัยร่วมระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนาต้นแบบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม Dental Cone beam CT (DentiiScan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่พัฒนาขึ้นในประเทศ ให้บริการผู้ป่วยมามากกว่าพันครั้ง มีคุณภาพทัดเทียมกับเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ เตรียมสนับสนุนให้ขยายผลการใช้งานสู่การบริการในโรงพยาบาลภาครัฐแห่งอื่นๆ

(16 มกราคม 2558) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ เดินทางมายังศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม Dental Cone beam CT (DentiiScan) ความก้าวหน้าทางทันตกรรมที่สามารถให้รายละเอียดของภาพถ่ายรังสี ได้ทั้ง 3 มิติ จากเดิมที่หากต้องการรายละเอียดของผู้ป่วยใน 3 มิติ จำเป็นต้องใช้เครื่อง CT ทางการแพทย์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และได้รับปริมาณรังสีมากกว่า โดยมี รศ.ทพ.ดร.สิทธิชัย วนจันทรรักษ์ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ฯ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม และทีมงานให้การต้อนรับ

จากการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้มีการพัฒนาเครื่องโคนบีมซีที (Dental Cone beam CT) และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสร้างภาพและโปรแกรมช่วยวางแผนผ่าตัดฝังรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญทางเทคโนโลยีดังกล่าว ตลอดจนมีบุคลากร ผู้ป่วย ที่สามารถจะช่วยพัฒนาการใช้งานเครื่องโคนบีมซีที (Dental Cone beam CT) ที่พัฒนาขึ้นโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงทำความร่วมมือ (MOU) ในโครงการวิจัยและพัฒนาผลงานวิจัยต้นแบบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม (Dental CT) เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานทางคลินิกในมนุษย์ เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยทั้งสองฝ่าย ให้ความร่วมมือในโครงการดังกล่าว และ จัดสรรงบประมาณ เพื่อสร้างเครื่องต้นแบบที่จะนำมาใช้ในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม กล่าวว่า เครื่องเดนตีสแกน (Dentiiscan) พัฒนาเมื่อปี 2550 โดยนักวิจัยเอ็มเทคและเนคเทค ซึ่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถประมวลภาพได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงมีการพัฒนาและทดสอบความปลอดภัยเพื่อให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ จนกระทั่งสำเร็จเมื่อปี 2554 และขณะนี้เดนตีสแกนผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยเรื่องปริมาณรังสีความปลอดภัยทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และการทดสอบทางคลินิก พร้อมทั้งนำไปติดตั้งใช้งานจริงแล้วจำนวน 3 แห่ง คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เครื่องโคนบีมซีที (Dental Cone beam CT) ที่ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีชื่อว่า “เดนตีสแกน” ถือเป็นเครื่องต้นแบบหนึ่งในสองเครื่องแรกของประเทศไทย ได้นำมาใช้ในงานหลักๆ ได้แก่ การวางแผนทันตกรรมรากเทียมโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม การวางแผนผ่าตัดผู้ป่วยที่ต้องใส่อวัยวะเทียมบนใบหน้า การวินิจฉัยผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุกระดูกขากรรไกรบนใบหน้า ผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่างๆ ในขากรรไกร และผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ และ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน

ปัจจุบัน เครื่องโคนบีมซีที (Dental Cone beam CT) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ใช้งานไปแล้วมากกว่าหนึ่งพันครั้ง และจากการสำรวจพบว่า การวางแผนการรักษาของผู้ป่วยทุกรายเป็นไปด้วยดี อัตราผลสำเร็จสูง ผลแทรกซ้อนมีน้อยมาก ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวให้คุณภาพของภาพของภาพรังสี 3 มิติได้ดีเท่าๆ กับเครื่องของต่างประเทศที่มีในเชิงพาณิชย์

หลังจากเยี่ยมชมเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม Dental Cone beam CT (DentiiScan) ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้ว ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ เดินทางต่อมายังคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อดูงานการดำเนินการเครื่องหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาต โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ และนำชมเครื่องฯ ขณะให้บริการผู้ป่วยอัมพาต

ข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

ถ่ายภาพ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ และ นายรัฐพล หงสไกร

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4261--3-.html

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ