บสย. วาง 4 กรอบแผนงาน ตอบสนองแผนรัฐ ดิจิทัล อีโคโนมี – ส่งเสริม SMEs ลงทุนเขตศก.พิเศษ แก้ปมแบงก์ “ปลดล็อก” ข้อจำกัด กฎหมายค้ำประกัน

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2015 17:21 —สำนักโฆษก

บสย. วาง 4 กรอบแผนงาน ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ร่วมผลักดัน เศรษฐกิจดิจิทัล หนุน SMEs ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขยายฐาน ไมโคร เอสเอ็มอี ร่วมสถาบันการเงิน “ปลดล็อก” ข้อจำกัดกฎหมายค้ำประกัน ตั้งเป้ายอดค้ำ 80,000 ล้านบาท

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผย แผนปฎิบัติงาน ปี 2558 ว่า จะมุ่งเน้นการทำงาน แบบบูรณาการ ตอบสนองนโยบายภาครัฐ ภายใต้ 4 กรอบแผนงานคือ 1. การส่งเสริมสนับสนุน ร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ ดิจิทัล อีโคโนมี 2. หนุนผู้ประกอบการ SMEs ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3. ลดช่องว่างเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับกลุ่มไมโคร เอสเอ็มอี 4. ร่วมสถาบันการเงิน แบงก์ ปลดล็อก ข้อจำกัด กฎหมายค้ำประกัน

หนุน แนวคิด ดิจิทัล อีโคโนมี

ในด้านการส่งเสริม ดิจิทัล อีโคโนมี บสย. พร้อมให้การสนับสนุน SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทั้งในรูปของสินเชื่อหรือเงินร่วมลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ บสย. จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโนยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดโครงการความร่วมมือ และพิธีลงนามโครงการความร่วมมือ ระหว่าง บสย. และ สวทช. ในการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและซอฟท์แวร์

นอกจากนี้ บสย. ยังได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ในการที่จะช่วยเหลือ SMEs ที่มีนวัตกรรมทางด้านซอฟท์แวร์ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ขั้นตอนขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอเพื่อให้กระทรวงการคลัง นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยเกณฑ์ของผู้ร่วมโครงการ คือจะต้องได้รับการพิจารณาจากซิป้าก่อน โดย บสย. ยังได้เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลสืบเนื่อง จากงานสัมมนา “การตีมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา” ซึ่ง บสย. ได้เชิญสถาบันค้ำประกันสินเชื่อของเกาหลีใต้ Korea Technology Finance Corporation “Kotec” มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ผ่านการสัมมนาดังกล่าว เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา

ส่งเสริม SMEs ลงทุนในเขตศก.พิเศษ

ด้านการส่งเสริม SMEs ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เขต อีกหนึ่งแผนงานของรัฐบาล บสย. ได้ประสานการทำงานร่วมกับธนาคารรัฐ ปล่อยสินเชื่ออัตราพิเศษ และได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินในโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภาพัฒน์ฯ เตรียมนำเสนอครม. ต่อไป โดย บสย. จะเข้าร่วมจัดสัมมนาแนะนำโครงการ ทั้ง 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย อ.แม่สอด จ.ตาก จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.มุกดาหาร ด่านสะเดา จ.สงขลา และ จ.หนองคาย และคาดว่าสามารถเปิดโครงการที่ อ. แม่สอดเป็นแห่งแรก

“ไมโคร เอสเอ็มอี” ดาวรุ่งแห่งปี

นายวัลลภ กล่าวว่า ปีนี้ บสย.ตั้งเป้ายอดค้ำ 80,000 ล้านบาท โดยมีผลิตภัณฑ์ “ไมโคร เอสเอ็มอี” ที่ บสย.ให้ความสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ที่มีความต้องการเงินกู้ในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย โดย บสย.มีวงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท สำหรับ ไมโคร เอสเอ็มอี บสย. คาดว่าจะช่วย SMEs ได้กว่า 17,000 ราย ซึ่งคาดว่าจะเป็นสินเชื่อดาวรุ่งของปีนี้ ส่วนอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งคือ ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสำหรับเอสเอ็มอี ทั่วไป ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงกลาง ขณะนี้ยังมีวงเงินอีกกว่า 100,000 ล้านบาท

“ปลดล็อก” ข้อจำกัด กฎหมายค้ำประกัน

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดในการร่วมหารือ กับ กลุ่มตัวแทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง บสย. กับ กลุ่มสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติ เดียวกัน ก่อนที่กฎหมายค้ำประกัน ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 11 กพ. นี้ โดยได้จัดการประชุมหารือ 2 ครั้ง คือในวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมาและครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

ผลการหารือทั้ง 2 ครั้ง ตัวแทนธนาคารให้ความสำคัญในรายละเอียดของหนังสือค้ำประกัน อาทิ ข้อเสนอให้หนังสือค้ำประกันของ บสย. การระบุรายการให้ครบตามกฎหมายกำหนด เช่น วัตถุประสงค์ มูลหนี้ ระยะเวลาในการก่อหนี้ และวงเงินสูงสุด เพื่อความชัดเจนในการออกหนังสือค้ำประกันตามกฏหมายใหม่

ทั้งนี้ บสย. จะดำเนินการปรับปรุงหนังสือค้ำประกัน การระบุข้อมูลตามรายการครบถ้วนตามกฎหมายใหม่กำหนด ซึ่ง บสย. ขอให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ บสย.ตามแบบคำขอค้ำประกันใหม่ อาทิ ชื่อสัญญาสินเชื่อ วัตถุประสงค์การใช้สินเชื่อ ระยะเวลาการก่อหนี้ (ปี) สัญญาสินเชื่อ/สัญญาฉบับลงวันที่, วงเงินสินเชื่อ(บาท)วงเงินให้ค้ำประกัน (บาท)

สำหรับการดำเนินการของ บสย. ในกลุ่มหนังสือค้ำประกัน เฉพาะแบบ Non-PGS จะกำหนดรายละเอียดในเรื่อง คำจำกัดความของการ “ผิดนัด” คือ การผิดนัดหนี้เงิน (เงินต้นหรือดอกเบี้ย) การแจ้งภายใน 60 วัน นับจากลูกหนี้ผิดนัด โดยแจ้งทุกครั้งที่ลูกหนี้ปกติมีการผิดนัด ซึ่งจะมีการแจ้งครั้งเดียว จนกว่าลูกหนี้ จะกลับมาเป็นปกติ หากมีการผิดนัดอีก ต้องแจ้งอีกครั้ง โดยวิธีการบอกกล่าว/การแจ้งผิดนัด จะต้องแจ้งเป็นหนังสือโดยขอให้มีการลงทะเบียนตอบรับ และธนาคารเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการยื่นขอรับเงินประกันชดเชยจาก บสย. เป็นต้น ส่วนลูกหนี้ในกลุ่มสัญญาค้ำประกัน สำหรับ PGS ไม่ต้องมีหนังสือบอกกล่าว/การแจ้งผิดนัด

“ในการประชุมหารือกับสถาบันการเงินทั้ง 2 ครั้ง บสย. ได้สร้างความมั่นใจให้กับตัวแทนธนาคาร ในฐานะที่ บสย. เป็นองค์กรค้ำประกัน ไม่มีเจตนาจะถือเอาประโยชน์จากกฎหมายค้ำประกันใหม่นี้ อีกทั้งยังแสดงเจตนาชัดเจนในการร่วมหาทางออกเพื่อปลดล็อก ข้อจำกัดต่างๆ โดยการร่วมหารือก็เพื่อให้ธนาคารเกิดความสะดวกในการดำเนินงาน ซึ่งต่อไป บสย. จะมีประกาศ/ระเบียบแจ้งให้ธนาคารทราบ เพื่อให้ธนาคารใช้ยึดถืออ้างอิงได้” นายวิเชษฐกล่าว และว่า การประชุมดังกล่าวได้สร้างความมั่นใจกับสถาบันการเงินอย่างน่าพอใจ ซึ่งมั่นใจว่า ภายหลังจากกฎหมายค้ำประกันมีผลบังคับใช้ สถาบันการเงินจะมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อโดยมี บสย.เป็นผู้ค้ำประกันมากขึ้น

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บสย. :

ชนิญญา สันสมภาค 081-860-7477 chaninya@gmail.com

          คัทลียา อุดมดี        081-657-7366 kattaleeya@tcg.or.th
          ศรันยู ตันติเสรี        086-797-2525 saranyu@tcg.or.th

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ