รมว.วท. กล่าวบรรยายพิเศษ "ในหัวข้อการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย"

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2015 15:57 —สำนักโฆษก

วันนี้ (26 มกราคม 2558) เวลา 09.00 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเกียรติกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล" ในการสัมมนาระดมความคิด เรื่อง "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง" โดยพลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน กรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ กล่าวรายงานการสัมมนา พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

พลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ปะเทศ การพึ่งพาประเทศอื่น จะมีผลให้ความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทสลดลง หากประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาจากประเทศอื่น ย่อมก่อให้เกิดความมั่นคงของชาติ อันจะนำไปสุ่การรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สร้างงานวิจัยคิดค้นเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีที่จำนำมาใช้เพื่อความมั่นคงของชาติได้อย่างมากมายตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการป้องกันประเทศ ตลอดจนการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในภาคการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และสามารถบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ พร้อมทั้งนำศักยภาพของกองทัพในยามปกติมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ

ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ตระหนักและยอมรับโดยทั่วไปว่าในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าต่างมีปัจจัยสำคัญร่วมกัน คือ การมีฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้าน เศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นเพื่อการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ภาครัฐจึงควรที่จะตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามที่ท่านพลอากาศเอก ชาลี ได้กล่าวแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สร้างงานวิจัยและคิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อความมั่นคงและการนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อความมั่นคงของชาติต่อไป

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สังคมโดยรวมอาจจะยังไม่เข้าใจถึงบทบาทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงคำว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือสังคม สิ่งที่มีสำคัญต่อประเทศไทยในขณะนี้ คือ Science and Technology for Development นอกจากนี้ การวางเป้าหมายหรือการจัดทำโครงการต่างๆ นอกเหนือจากโครงการโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยของภาครัฐ ที่ยังไม่ได้มีการปฏิรูประบบที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเอื้อให้ทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาไทย ได้สามารถนำสิ่งที่เป็นความรู้ต่างๆ ทางด้านวิทยาสาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ในอดีตที่ผ่านประเทศไทยจะต้องเสียเงินตราให้กับต่างประเทศในการซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นหากประเทศไทยมีการลงทุนในด้านการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ลดการนำเข้าเทคโนโลยีให้แก่ประเทศ และในอนาคตประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่ส่งออกเทคโนโลยีซึ่งก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศ

จุดอ่อนและปัญหาของประเทศไทย ด้าน วทน.ขาดความต่อเนื่องและความสนใจจาผู้บริหารประเทศและระบบงบประมาณ

1. ภาคเอกชนยังรับจ้างผลิตและนำเข้าเทคโนโลยีปีละกว่า 200,000 ล้านบาท

2. โครงสร้างพื้นฐาน ห้องแบ ห้องทดสอบ ขาดการปรับปรุง และขาดการใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ

3. ขาดกำลังคนด้าน วทน. ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

4. ผลงานวิจัยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ขาดการร่วมวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์

5. ขาดยุทธศาสตร์ต่างประเทศด้าน วทน. เพื่อเชื่อมการค้า การลงทุน

ตัวอย่างมาตรการสำคัญที่อยู่ในระหว่างการขับเคลื่อน มีดังนี้

1.แรงจูงใจทางภาษีให้เอกชนหันมาลงทุนวิจัย

2.ผูกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เกิดการพัฒนา วทน. และอุตสาหกรรมนวัตกรรม

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมรายสาขา (นำร่องโดยอิเล็กทรอนิกส์อาหาร)

4.การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของภาครัฐโดยผ่านกฏหมาย

5.การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้ลงทุนสร้างนวัตกรรม

6.การสนับสนุนเทคโนโลยีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก

7.ศูนย์บริการเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

8.การเคลื่อนย้ายบุคลากรจากภาครัฐไปภาคเอกชน

9.การสนับสนุนการพัฒนา STEM ในการศึกษาและแรงงาน

10.การทูตด้านวิทยาสาสตร์

11.การเผยแพร่ดาราศาสตร์ไปทุกจังหวัด

12.อุทยานนวัตกรรมอาหาร

14.โครงการอวกาศแห่งชาติ

15.เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ภาพข่าว และวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ