ทางด้านนายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.น่าน กล่าวว่า สถานการณ์การเงินการคลังของรพ. ใน จ.น่าน ตั้งแต่ ปี 2554 เป็นต้นมา ประสบภาวะวิกฤตรพ.ขาดทุนมาตลอด จนกระทั่งปี 2557 หน่วยบริการจ.น่านได้ร่วมกันบริหารจัดการระบบเงินการคลังรูปแบบใหม่ เพื่อให้พ้นวิกฤตรพ.ขาดทุน โดยคำนึงถึงบริบทพื้นที่เป็นหลัก เช่น กิจกรรมที่ต้องดูแลผู้ป่วยต่อคนในแต่ละบริบทพื้นที่ ไม่ใช่ยึดค่ารายหัวในการรักษาพยาบาล ซึ่งมีแนวทางทำงานทั้งในระดับจังหวัดและระดับเครือข่าย เช่น ระดับจังหวัด ใช้รูปแบบ “พี่ช่วยน้อง” รพ.ใหญ่ช่วยรพ.เล็ก โดยจะมีการกำกับติดตามรายหน่วยบริการทุกเดือน ให้หน่วยบริการทุกแห่งเข้าใจสถานะการเงินร่วมกัน ต้องร่วมคิดรูปแบบการกระจายเงิน การลดรายจ่าย เพื่อปรับเกลี่ยเงินให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละแห่ง และให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งการที่พี่ยกหนี้ให้น้องด้วย สำหรับระดับเครือข่าย มีการทำความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ สถานบริการสาธารณสุขชุมชน ใน จ.น่าน เพื่อปรับประสิทธิภาพการเงินการคลังของทุกข่ายบริการ ให้รพ.แม่ข่ายจัดทำแผนประมาณรายได้และควบคุมค่าใช้จ่ายให้เกิดสมดุล และลดค่าใช่จ่าย โดยเฉพาะค่ายา เวชภัณฑ์มิใช่ยา วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาตรการที่ดำเนินการเป็นพิเศษอีกเรื่องที่สำคัญ การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์มิใช่ยา LAB ร่วมกันทั้งจังหวัดเพื่อให้ได้ยาตัวเดียวกันทั้งจังหวัด โดยจัดซื้อตามระเบียบพัสดุวิธีประกวดราคา ที่สำคัญเขตบริการสุขภาพที่ 1 โดยท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรเงินมาช่วยเหลือแก่จังหวัดน่านจำนวนหนึ่งทำให้จังหวัดน่านสามารถแก้ไขภาวะวิกฤติได้สำเร็จ จากนี้หน่วยบริการสาธารณสุขจ.น่าน จะใช้แนวทางที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤตรพ.ขาดทุนนี้ต่อไป
นายแพทย์ปิยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีรพ.ที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ดี ก็คือ รพ.ท่าวังผา เนื่องจากมีกระบวนการคิดที่ชัดเจน มีกรอบการทำงานครบถ้วนและครอบคลุมทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องผู้นำ ทิศทาง นโยบาย การเรียนรู้ การดูแลประชาชน แพทย์และพยาบาลที่พร้อมให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ และการพัฒนากระบวนการทำงานจนถึงชุมชน จนเกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ เช่น การลดจำนวนผู้ป่วยนอนค้างคืนที่รพ. และร่วมมือกับชุมชนเพื่อเพิ่มกระบวนการดูแลครอบครัวในชุมชนโดยแพทย์และพยาบาล ทั้งนี้เป็นระบบการจัดบริการร่วมกันของรพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน และรพ.สต. ร่วมกันทุกฝ่าย โดยใช้คน วัสดุอุปกรณ์ และดูแลฐานการเงินร่วมกัน ให้หน่วยบริการทุกแห่งรู้สถานะการเงินร่วมกัน รวมทั้งการใช้ยาร่วมกันทุกตัวกับรพ.ศูนย์ นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนสหเผ่าพันธุ์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนต่างเผ่าพันธุ์และการอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสุขและความสงบ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่จังหวัดน่านได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ แต่ด้วยการจัดสรรเงิน UC ที่อาจยังมีวิธีการหลายเรื่องที่ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร จึงเกิดความไม่มันนใจว่า สถานะการเงินการคลังที่ของหน่วยบริการในจังหวัดน่านจะยังคงอยู่ในระดับดีได้ต่อไปได้นานเพียงใด และจะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่
มกราคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th