ก.วิทย์ฯ บูรณาการความร่วมมือนำวิทยาศาสตร์จัดการน้ำชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2015 15:51 —สำนักโฆษก

วันที่ 24 มกราคม 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับกองทัพบก โดย กรมการทหารช่าง (กองพันทหารช่างที่ 51) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและเป็นพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำในฤดน้ำหลากไว้ใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง ด้วยการขุดคลองรอบอ่างเก็บน้ำฯ กันแนวเขตและรักษาพื้นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ โดยมี พ.ท. ดร. รุ่ง ประชาธนานุกิจ ผู้บังคับบัญชากองพันทหารช่างที่ 51 ค่ายบุรฉัตร จ.ราชบุรี นายธีระ เหลียวสุธีร์ นายอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ พระครูปลัดนายกวัฒน์ (กมล ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดเทพนารี ที่ปรึกษาการจัดการน้ำชุมชนฯ และนายจักรพงษ์ สงวนชม ประธานบริหารจัดการน้ำชุมชนหนองกุดใหญ่ ร่วมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้ และตำบลข้างเคียง ก็จะเป็นการแสดงตัวอย่างให้กับประเทศไทย ก่อนอื่นต้องบอกว่า พวกเราโชคดีมากที่พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราได้คิด เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราเกิดความร่วมมือนี้ขึ้นมา ทำให้ผมรู้ซึ่งถึงวันนี้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีใหม่ที่ชุมชนต่างๆ จะเริ่มนำไปใช้ประโยชน์

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหลักสำคัญในเรื่องน้ำของเราคือ สสนก. สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และในระยะต่อไปเราก็มีมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลักของเราไม่ใช่เอาของมาให้หรือช่วยสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร แต่หลักของเราคือมาเพื่อให้ความรู้ และมาพยายามให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชนด้วยกัน สิ่งที่ชุมชนในบุรีรัมย์ที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่จะทำให้เห็นว่า การที่ชาวบ้านและชุมชนดูแลและพัฒนาด้วยตัวเอง โดยใช้ความรู้จากภายนอกมาปรับให้เข้ากับพื้นที่ นอกจากจะทำให้เรามีน้ำใช้แล้ว ในระยะอันใกล้ทุกครัวเรือนจะมีรายได้ มีองค์ประกอบหลายอย่างไม่เพียงแต่การบริหารจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบริหารจัดการครัวเรือน การใช้ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงการรักษาสภาพแวดล้อม การรู้จักตลาดเพื่อจะทำให้เราได้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และลูกหลานจะได้สามารถที่จะอยู่ติดพื้นที่ช่วยพ่อแม่ และเป็นกำลังสำคัญของชุมชน สังคมได้ในอนาคต ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องวิธีคิดในเรื่องของการบริหารจัดการ และสำคัญที่สุดเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นอกจาก สสนก. แล้ว เรายังมีอีก 13 สถาบัน เรายังมีความรู้อื่นๆ ที่สามารถจะมาสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้ อาทิ ด้านชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ ที่สามารถมาสนับสนุนในเรื่องของพันธุ์พืชซึ่งทนต่อภาวะแล้ง หรือน้ำท่วม เพื่อจะได้ไม่เกิดความเสียหายมากเกินไป

พ.ท. ดร. รุ่ง ประชาธนานุกิจ ผู้บังคับบัญชากองพันทหารช่างที่ 51 เปิดเผยว่า กองทัพบกมีปณิธานอันหนึ่งว่า กองทัพบก เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นได้กล่าวเสมอว่ากองทัพบกจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกๆ โอกาส ส่วนหนึ่งคือการสร้างการกินดีอยู่ดีให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน เป็นการสร้างความมั่นคงในทางอ้อมซึ่งจะเกิดผลดีในภาพรวมต่อไป สำหรับกรมการทหารช่างมีหน้าที่เป็นหน่วยงานช่าง แต่งานช่างของกองทัพบกเป็นงานช่างเพื่อการรบ เช่นทำแนวเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู เราก็มีเครื่องมือช่างจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถแม็คโครและรถแทรกเตอร์ ขีดความสามารถใกล้เคียงกับเอกชนในการทำถนน ขุดคลอง และการก่อสร้างต่างๆ เมื่อยามสงบทหารช่างซึ่งมีงานไม่มากก็จะนำอุปกรณ์เหล่านี้มาพัฒนาพื้นที่ ในส่วนหนึ่งกองทัพบกมองเรื่องน้ำ เพราะถ้าเรามีไฟฟ้าชีวิตก็จะเจริญ แต่ถ้าเราขาดไฟฟ้าเราอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำ น้ำเริ่มต้นชีวิตประจำวัน กิน ทำอาหาร ใช้อาบ ใช้ทำการเกษตรเพื่อให้มีพืชมีอาหาร ถ้าเราไม่มีน้ำเราก็จะเกิดความยากลำบาก

นายจักรพงษ์ สงวนชม ประธานบริหารจัดการน้ำชุมชนหนองกุดใหญ่ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ และเป็นตัวอย่างของการดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับจังหวัด ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบ้านกุดใหญ่ ได้เน้นไปที่การเชื่อมโยงโครงสร้างน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และอยู่ในระดับความสูงที่แตกต่างกัน สามารถกักเก็บน้ำและกระจายน้ำไปสู่พื้นที่การเกษตรได้อย่างเป็นระบบ โดยประยุกต์ใช้พลังงานในหลายรูปแบบตามศักยภาพของพื้นที่ อีกทั้งกันแนวเขตหน่วยน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันการบุกรุก เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในพื้นที่ ส่งเสริมและสร้างกลุ่มตัวอย่างของการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่ เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชใช้นำน้อยแบบผสมผสาน พร้อมเริ่มนำร่องการทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 20 ราย

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำริ บ้านโนนขวาง ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ของนายทองคำ ยิ้มรัมย์ ผู้พลิกฟื้นผืนดินที่แตกระแหง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น เก็บน้ำก็ไม่อยู่ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น เริ่มจากขุดสระน้ำประจำไร่นาโดยใช้จอบขุดด้วยมือทั้งสอง เพื่อเป็นแก้มลิงเก็บน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน และใช้ระบบนิเวศธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ ขยายความรู้สู่ชุมชนและโรงเรียน เช่น โรงเรียนหนองแต้พัฒนา ได้นำความรู้ไปขยายผลต่อ ได้แก่ การจัดการน้ำ การทำทฤษฎีใหม่ การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการเรียนรู้ฐานทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่ป่าชุมชนตำบลโนนขวาง ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 70 ไร่ พัฒนาเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้กับเยาวชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเรียนรู้ข้อมูลพรรณไม้และเห็นคุณค่าทรัพยากรท้องถิ่นของตน รวบรวมและจัดทำเป็นฐานข้อมลูพรรณไม้ชุมชนตำบลโนนขวาง

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ / นางสาวพจนพร แสงสว่าง กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4305-2015-01-27-08-09-45.html

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ