พม. พบขอทานจำนวน ๗๕๕ คน หลังปฏิบัติการจัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศครบ ๕ วัน ย้ำ “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน”

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2015 11:47 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒ ก.พ. ๕๘) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้จัดระเบียบคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไปแล้ว ๒ ครั้ง คือ ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ซึ่งพบว่ามีขอทานจำนวน ๔๓๑ คน เป็นขอทานไทยจำนวน ๑๙๐ คน ต่างด้าวจำนวน ๒๔๑ คน และ ในครั้งที่ ๓ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชนต่างๆ ได้ขยายผลการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ โดยปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ ม.ค.๒๕๕๘ ซึ่งพบว่า ในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร)และในส่วนภูมิภาค (๗๖ จังหวัด) มีขอทานเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๗๕๕ คน เป็นขอทานคนไทย จำนวน ๕๖๐ คน แบ่งเป็นชาย ๓๕๗ คน หญิง ๑๗๘ คน เด็กชาย ๑๗ คน เด็กหญิง ๘ คน และเป็นขอทานต่างด้าว จำนวน ๑๙๕ คน แบ่งเป็นชาย ๙๓ คน หญิง ๕๙ คน เด็กชาย ๒๐ คน เด็กหญิง ๒๓ คน ทั้งนี้ จากการจัดระเบียบคนขอทานทั้ง ๓ ครั้ง มีขอทานเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑,๑๘๖ คน เป็นขอทานคนไทย ๗๕๐ คน เป็นคนต่างด้าว ๔๓๖ คน ได้แก่ ชาวกัมพูชา ๓๒๒ คน ชาวเมียนมาร์ ๔๐ คน ชาวจีน ๑๐ คน ชาวลาว ๕ คน ชาวเวียดนาม ๔ คน ในส่วนที่เหลือเป็นชาวสเปน ปากีสถาน ญี่ปุ่น มอญ รวมถึงบุคคลที่ยังไม่สามารถระบุสัญชาติ และมีขอทานเป็นเด็กไทย ๖๔ คน และเด็กต่างด้าว ๘๓ คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาเป็นคู่แม่ลูก จำนวนทั้งสิ้น ๒๙ คู่ และพ่อลูก ๑ คู่ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว โดยคู่แม่ลูกและคู่พ่อลูกจะส่งเข้ารับการพิสูจน์ DNA ว่ามีความสัมพันธ์เป็นแม่ลูกหรือพ่อลูกกันจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นขอทานกลุ่มที่เคยถูกเชิญตัวมาตักเตือน มีจำนวนทั้งสิ้น ๘๔ คน

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน ทั้ง ๓ ครั้ง พบว่า ๕ จังหวัด ที่มีขอทานมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา เชียงราย และนครสวรรค์ โดยสาเหตุหลักของการขอทาน ได้แก่ ฐานะยากจนรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีงานทำ และสำหรับขอทานต่างด้าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ คนต่างด้าวบางส่วนมีบัตรอนุญาตเข้าเมืองเป็นการชั่วคราวในฐานะนักท่องเที่ยว หรือบัตรอนุญาตเข้ามาทำงาน แต่มากระทำการขอทานแทน ส่วนด้านสุขภาวะ พบว่า มีขอทานที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ๑๗๕ คน เป็นคนพิการ ๒๓๔ คน เป็นผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรัง ๓๙ คน และมีอาการทางจิตเวช ๗๒ คน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการเบื้องต้น โดยทำการคัดกรองบุคคลที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ และ ผู้อยู่ในข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยทีมสหวิชาชีพ พร้อมพิจารณานำส่งสถานรองรับ ดังนี้ สถานแรกรับและสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ๔๐๘ คน บ้านมิตรไมตรี ๕๒ คน บ้านพักเด็กและครอบครัว ๖๐ คน สถานแรกรับเด็กชาย ๖ คน ส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ๑๐ คน และประสานส่งตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดและกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งกลับประเทศภูมิลำเนา ๑๔๓คน พร้อมทั้ง ได้ให้คำตักเตือนและความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการขอทาน เพื่อให้มีความเข้าใจและไม่กลับมากระทำการขอทานซ้ำ ก่อนปล่อยตัวกลับภูมิลำเนา จำนวน ๕๐๗ คน สำหรับการจัดบริการช่วยเหลือฟื้นฟูในสถานรองรับ ประกอบด้วย ให้คำปรึกษาแนะนำและจัดทำแผนฟื้นฟูสมรรถภาพรายบุคคล จำนวน ๓๑๖ คน เข้ารับการฝึกทักษะอาชีพ จำนวน ๑๖๕ คน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ๑๓๐ คน และเข้ารับบริการทางการแพทย์ฟื้นฟูสภาพร่างกาย จำนวน ๔๙ คน

"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบขอทาน โดยมีการขับเคลื่อนงานดังกล่าวตามหลัก 3P ประกอบด้วย ๑) Policy นโยบายเพื่อเพิ่มวางแนวทางการขับเคลื่อนงานให้ครอบคลุม และเน้นการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ๒) Protection พัฒนากระบวนให้การคุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ตามปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้คนมาเป็นขอทาน และ ๓) Prevention ป้องกันในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นมาตรการที่จะช่วยในการจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้สังคมตระหนักถึงการให้อย่างถูกวิธี ภายใต้สโลแกน "ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน”เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างพลังการมีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขอทานที่ยั่งยืน” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ