พิเชฐ! สั่งหน่วยงานกระทรวงวิทย์ฯ ผนึกมหาดไทย นำ วทน. ช่วยชาวบ้านทุกจังหวัด

ข่าวทั่วไป Friday February 6, 2015 15:10 —สำนักโฆษก

“พิเชฐ” เดินหน้าปฏิรูปกระทรวงวิทย์ฯ จัดระบบทำงานใหม่ เน้นนำ วทน. เสริมแกร่งชุมชน แนะชาวบ้านจัดการตัวเองด้วยความรู้ เตรียมประสานมหาดไทย ตั้งปราชญ์ที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ทุกจังหวัด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

5 กุมภาพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หนึ่งในแผนปฏิรูปกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญของการปฏิรูปประเทศ คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสังคมและชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จาก วทน. จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างโอกาสให้ผู้ใช้ประโยชน์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ได้มีโอกาสเรียนรู้ และบริหารจัดการความรู้ด้วยตนเอง

“การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ควรมีที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด (Provincial Chief Science Advisor) ในทุกจังหวัด ซึ่งอาจมาจากปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์จาก วทน.เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ มาให้คำปรึกษากับผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาในคณะทำงานพัฒนาของแต่ละจังหวัดด้วย ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดข้อเสนอนี้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกระจายความเจริญให้กับท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าว

ดร.พิเชฐ ยกตัวอย่างความสำเร็จในกรณีของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้นำ วทน.ลงไปพัฒนา หมู่บ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการร่วมกับชาวบ้าน นำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีจีพีเอส (GPS)

มาใช้ศึกษาทิศทางการไหลของน้ำ ขุดสร้างบ่อพักน้ำดักตะกอนอย่างเป็นระบบ ทำให้เกษตรกรรับมือกับสถานการณ์

น้ำท่วมและน้ำแล้งได้อย่างรู้ทัน เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนอย่างเป็นระบบ เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี ต่อยอดการเกษตรแบบครบวงจรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีองค์ความรู้มากมายที่จะสามารถช่วยเหลือชุมชน แต่อาจยังขาดเรื่องการบริหารจัดการและประสานความร่วมมืออย่างเป็นระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดระบบการทำงานใหม่ หรือ Re-packaging เพื่อให้การปฏิรูป วทน. สัมฤทธิ์ผล กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะขยายผลความสำเร็จจากงาน สทอภ. และสสนก. โดยให้หน่วยงานทั้งหมดของกระทรวงวิทยาศาสตร์มาร่วมบูรณาการงานเพื่อช่วยท้องถิ่น ชุมชน อย่างเป็นระบบ ให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึง วทน. และนำ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชาวบ้านจัดการตนเองด้วยความรู้ด้าน วทน.ได้

“กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องสร้างเครือข่ายของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำ วทน. มาสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนและสังคม ดังตัวอย่างความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับกองพันทหารช่างที่ 51 และชาวบ้าน ในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบ้านกุดใหญ่ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ โดยการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากความเข้มแข็งของชุมชนที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้เกิดผล โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง มีการเสียสละพื้นที่บางส่วนให้เป็นทางไหลของน้ำ มีกรรมการน้ำเพื่อประสานประโยชน์ ตัดสินใจทำนาปรังหรือไม่ทำร่วมกัน” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

เขียนข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ