ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบการออกกฎหมายกระทรวงการคลังในการดำเนินโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป

ข่าวทั่วไป Wednesday February 11, 2015 16:44 —สำนักโฆษก

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบการออกกฎหมายกระทรวงการคลังในการดำเนินโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป

วันนี้ (11 ก.พ. 58) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 2/2558 โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แถลงผลการประชุมของคณะกรรมการ PPP สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงการคลังกำหนดให้โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดใน พ.ร.บ.PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าระหว่าง 1,000 – 5,000 ล้านบาท ให้มีการแยกกระบวนการในการพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ 1. หากเป็นโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. PPP 2. หากเป็นโครงการที่ไม่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เช่น การพัฒนาที่ดินของรัฐเชิงพาณิชย์ ให้ดำเนินการตามกระบวนการแบบผ่อนปรน เช่นเดียวกับกระบวนการสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยให้เพิ่มขั้นตอนการกำกับดูแล และรายงานให้คณะกรรมการ PPP ทราบ พร้อมกับจัดทำฐานข้อมูลโครงการ PPP ต่อไป สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท คณะกรรมการ PPP มอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการได้ เพื่อให้โครงการ PPP ดำเนินการได้โดยไม่ล่าช้าและไม่เป็นภาระกับหน่วยงานเจ้าของโครงการมากเกินไป

สำหรับการดำเนินกระบวนการนั้น ที่ประชุมเห็นควรให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามกฎหมาย PPP ในขณะนี้คณะกรรมการ PPP ได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายลำดับรองเกือบหมดแล้ว เพื่อให้โครงการ PPP สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างคล่องตัวหลังจากหยุดชะงักมา 2 ปี โดยกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรองเริ่มจากหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ โดยจะใช้เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดวิธีการในการคำนวณมูลค่าโครงการทั้งเงินทุนและทรัพย์สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตลอดอายุโครงการเฉพาะที่ใช้ดำเนินการเท่านั้น และให้หน่วยงานสามารถเลือกคำนวณส่วนใดก่อนก็ได้

พร้อมกันนี้ได้กำหนดหัวข้อสำคัญที่ต้องเป็นมาตรฐานในสัญญาร่วมลงทุน เช่น สิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย การกำหนดอัตราค่าบริการและผลประโยชน์ตอบแทน สัญญาร่วมลงทุนต้องไม่มีการต่ออายุสัญญาแบบอัตโนมัติการไม่ให้เอกชนเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการฝ่ายเดียวได้ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาถึงประเด็นสำคัญเหล่านี้ตั้งแต่วันที่จะเริ่มโครงการ ทำให้ไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญเพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนและผลประโยชน์ของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงใดที่ส่งผลกระทบกับผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการผลประโยชน์ของภาครัฐ หรือเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทำให้ลดปัญหาในการกำกับดูแลสัญญาและเพิ่มความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญา

ดังนั้น ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กฎหมายลำดับรองทั้งหมดจะมีความครบถ้วน โครงการร่วมลงทุนต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ