ดร.พิเชฐ เตรียมปฏิรูปพัฒนากำลังคน มุ่งเพิ่มผลิตนักวิจัยด้าน วทน. หวังหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 16:50 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนากำลังคน เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล และเป็นแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ต้องการเพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ยังขาดแคลน ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีโครงการที่ดีหลายโครงการ อาทิ บ้านนักวิทย์น้อย มหาวิทยาลัยเด็ก สนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) นักเรียนทุนกระทรวงวิทย์ฯ พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ฯลฯ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงกัน และยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวด้านการวิจัยและพัฒนา ที่กำลังเพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ดังนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงจัดเวทีเพื่อร่วมหารือแนวทางการปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนเพื่ออนาคต โดยมองให้เป็นโครงการระดับชาติ มีการระบุจำนวนความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาเอกที่ชัดเจน และการทำงานเป็นข้อต่อร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

“กำลังคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด จึงจำเป็นต้องยกระดับให้เป็นโครงการระดับชาติ และมีการกระจายโอกาสให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างผู้ที่จบปริญญาเอกทางด้าน วทน. เพิ่มขึ้น 10-20 เท่า เพื่อทำให้ประเทศไทยมีโอกาสหลุดจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นโดยการสร้างความชัดเจนในเส้นทางอาชีพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเด็กที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ว่าเมื่อเรียนจบจะไปประกอบอาชีพอะไร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน” ดร.พิเชฐ กล่าว

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา วทน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ที่จะร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าต่างๆ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการในหลายส่วน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในสัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อภาคเอกชน 30:70 เช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาจาก 200 เปอร์เซ็นต์ เป็น 300 เปอร์เซ็นต์ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา การแก้ไขระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เอื้อกับการจัดซื้อจัดจ้างในสินค้าและบริการที่ใช้นวัตกรรมของไทยมากขึ้น

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนเพิ่มการทำวิจัยด้าน วทน.มากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงต้องเร่งดำเนินการโครงการปัจจุบันหลายโครงการ เช่น หลักสูตรสะเต็มศึกษา (STEM) ที่เน้นการจัดการเรียนการสอน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์แนวใหม่ การจัดทำแผนแม่บทของกำลังคนด้าน วทน. โครงการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (Work-Integrated Learning หรือ WIL) ที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในโรงงานจริง โครงการส่งเสริมบุคลากรด้าน วทน. จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) เพื่อสนับสนุนความต้องการของเอกชน

รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับสาขาวิชาที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมส่งนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับกับนโยบายรัฐบาล อาทิ สาขาการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การสร้างแบบจำลองเพื่อรองรับนโยบายโซนนิ่ง เพื่อปลูกพืชผลแต่ละชนิด สาขาการเกษตรแปรรูปเพื่อรองรับนโยบายการแปรรูปและการส่งออกสินค้าเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ สาขาการออกแบบวิศวกรรมและระบบอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาขาอื่น ๆ ที่เตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต เช่น สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ชีวสารสนเทศศาสตร์ ชีวเภสัชกรรม ชีวสารสนเทศ ชีวสถิติ สารสนเทศการเกษตร สาขาเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการสร้างแรงจูงใจในการเข้าเรียน วทน. การสร้างเส้นทางประกอบอาชีพที่ชัดเจน ค่าตอบแทนเหมาะสม และการส่งเสริมสนับสนุนจัดการเรียนการสอนและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษด้าน วทน. อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงความก้าวหน้าการสร้างและการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำโครงการเกี่ยวกับการสนับสนุนการสร้างกำลังคน อาทิ โครงการนักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ โดยให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อรับวิทยาการที่มีความก้าวหน้ากลับมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ในการจัดทุนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนได้มีการวางแผนงานที่ชัดเจน คือการส่งนักเรียนทุนไปศึกษาและกลับมาพัฒนาประเทศให้ตรงกับสาขาที่ได้วางไว้ ไปจนถึงการคาดการณ์ในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีระบบสนับสนุนผู้สูงอายุหรือคนพิการ เป็นต้น และยังมีโครงการพัฒนานักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่มีความสามารถพิเศษ ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัย มีการนำร่องใน 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และในปัจจุบันได้มีการขยายตัวออกไปเป็น 15 มหาวิทยาลัย 16 โรงเรียน นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนากำลังคนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การนำสถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งอาจจะอยู่ในชุมชนเดียวกัน หรืออาจจะอยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย การดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี และจะดำเนินการขยายผลกันต่อไป ทั้งนี้ ระบบการสร้างและการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับความร่วมมือจากหลายกระทรวง คิอ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน รวมทั้ง องค์การมหาชนอีกหลายแห่ง

เขียนข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ถ่ายภาพโดย : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นายรัฐพล หงสไกร

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ