กระทรวงมหาดไทย สั่งการผู้ว่าฯ คุมเข้มท้องถิ่น ต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ แก้ปัญหาทุจริตตามนโยบายรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Friday February 13, 2015 15:34 —สำนักโฆษก

วันนี้ (13 ก.พ. 58) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยทุกส่วนราชการกำหนดมาตรการและแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกระดับอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นนโยบายเน้นหนักที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับทุกภารกิจ/โครงการของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แผนงาน “มหาดไทยใสสะอาด” รวมทั้งสนับสนุนให้มี “จังหวัดใสสะอาด” “อำเภอใสสะอาด” และ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใสสะอาด” ทั่วประเทศ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ กำกับการดำเนินงานตามกฎหมายอย่างจริงจังเข้มงวด อย่างไรก็ดีแม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจังมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินงานในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับขณะนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณตามโครงการต่างๆ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปโดยถูกต้อง เปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดและอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแล ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติโดยเคร่งครัด ดังนี้

1. ก่อนการจัดซื้อจัดจ้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับครุภัณฑ์ที่มีราคาเกิน 1 แสนบาท และที่ดินสิ่งก่อสร้างที่มีราคาเกิน 1 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี และส่งสำเนาให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคทราบ โดยถือปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งส่งให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลการติดตามตรวจสอบ และในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้ให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติราคากลางค่าก่อสร้าง ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้รีบส่งรายละเอียดการคำนวณราคากลางไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้เห็นชอบหรืออนุมัติราคากลาง รวมทั้งให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดจัดให้มีสถานที่กลางระดับอำเภอและจังหวัดสำหรับใช้เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นสถานที่สำหรับปิดประกาศรับซอง เปิดซอง และใช้เป็นสถานที่สำหรับรับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ยกเว้น กรณีการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งต้องกระทำโดยเร่งด่วน หรือการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (จชต.)

2. ในขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ดังนี้ 1) การซื้อหรือการจ้างให้กำหนดรายละเอียดของงานหรือคุณลักษณะเฉพาะ (Specifications) ให้ครบถ้วน โดยเปิดโอกาสและให้เวลาแก่ผู้รับจ้างหรือผู้ขาย สามารถเข้าเสนอราคาแข่งขันกันได้มากรายและห้ามมิให้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งของที่จะซื้อให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ จนเป็นเหตุให้ผู้ค้ารายอื่นเสียเปรียบโดยไม่เป็นธรรม หรือทำให้ราชการต้องจ้างหรือซื้อพัสดุในราคาที่สูงกว่าปกติ 2) ในงานจ้างก่อสร้างให้จัดทำราคากลางตามหลักเกณฑ์ของทางราชการและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นเอกสารเพื่อให้ผู้สนใจสามารถตรวจดู หรือดาวน์โหลดไปตรวจดูพร้อมกับประกาศสอบราคา ประกวดราคา หรือประกาศประมูลซื้อหรือจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ (e-Auction) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่มิใช่การก่อสร้างให้ดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ตามคู่มือแนวทางการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและการคำนวณราคากลาง 3) การกำหนดราคาขายเอกสารการสอบราคา ประกวดราคา ประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กำหนดราคาขายพอสมควรกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปโดยไม่หวังส่วนเกินเป็นรายได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาซื้อเอกสารได้มากรายที่สุด และ4) กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการอาจแต่งตั้งผู้แทนชุมชน ที่มีความรู้หรือประสบการณ์ เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างได้ไม่เกินคณะละ 2 คน ทั้งนี้ ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้เสนอราคาในงานซื้อหรืองานจ้างดำเนินการไม่สุจริต เช่น มีพฤติกรรมสมยอมราคา (ฮั้ว) หรือขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ให้ผู้บริหารพิจารณายกเลิกการซื้อการจ้างในครั้งนั้นและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. หลังการจัดซื้อจัดจ้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งสำเนาสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือ ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคและสรรพากรจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาหรือข้อตกลง และให้จัดทำสรุปผลการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างเป็นรายเดือนทุกเดือน โดยมีรายละเอียดต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจดูของประชาชน นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสอบการชำรุดบกพร่องของพัสดุที่อยู่ระหว่างระยะเวลาการประกัน ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาประกันภายใน 15 วัน ให้ตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของพัสดุ หากปรากฏว่ามีความชำรุดบกพร่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรีบแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างมาดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้แล้วเสร็จก่อนระยะเวลาของการประกันสิ้นสุดลง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ติดตาม กำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในข้างต้นอย่างเคร่งครัด หากพบว่าท้องถิ่นใดมีพฤติการณ์การใช้จ่ายงบประมาณในทางมิชอบจนเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถตอบสนองต่อระบบธรรมาภิบาล บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจภาครัฐ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ