รองโฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีวอนทุกฝ่ายเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมนำเสนอข้อมูลด้วยความอดทนและเปิดใจรับข้อมูลรอบด้านเพื่อให้ได้ข้อยุติที่จะดำเนินการต่อไป

ข่าวทั่วไป Wednesday February 18, 2015 13:38 —สำนักโฆษก

วันนี้ (18 ก.พ. 58) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการไปประชุมคณะกรรมการประสานงาgนและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2558 ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเฝ้าฯ รับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ จังหวัดน่าน ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรัสว่าปัจจุบันคนจนมีทั้งจนปกติ จนมาก และจนที่สุด โดยทรงฝากรัฐบาลขอให้ดูแลประชาชนดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะคนจนที่สุดซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามแนวขอบชายแดน และทรงชื่นชมการทำงานของรัฐบาล เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ไปพิจารณาหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะคนจนที่อยู่ตามแนวชายขอบ โดยการหาอาชีพที่เหมาะสมให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพให้ด้วยตามความสมัครใจของประชาชนเพื่อจะได้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และรองรับนโยบายเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ป้องกันการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจอีกด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนที่ยังไม่มีที่ทำกินหรือมีที่ทำกินไม่เพียงพอว่า ในอดีตมีวิธีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวหลายอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. หรือแนวทางอื่น ๆ นั้น แต่ปรากฏว่า ระยะหลังที่ดิน ส.ป.ก. ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในการรับผิดชอบหรือการครอบครองของนายทุนเป็นส่วนใหญ่ นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยเป็นการเรียกคืนที่ดินส่วนนี้กลับมา ซึ่งอาจจะต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องและมีการชดใช้ เพื่อจะได้จัดสรรที่ดินดังกล่าวใหม่ให้มีความเหมาะสม ป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนมือได้อีก และประชาชนที่เดือดร้อนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันในบริเวณพื้นที่ที่ถูกบุกรุกก็ต้องมีการจัดระเบียบและฟื้นฟูให้สามารถกลับมาเป็นสภาพป่าเช่นเดิม ส่วนพื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมจนไม่สามารถทำอะไรได้แล้วก็ต้องมีการจัดระเบียบเช่นกัน โดยอาจจะให้มีการเช่าหรือพิจารณาตามที่หน่วยงานของราชการกำหนด อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือจะต้องไม่มีการขายต่อ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ รัฐบาลต้องการที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน

นอกจากนั้น ในพื้นที่ป่าต้นน้ำก็ต้องรีบดำเนินการโดยเร่งด่วนเช่นกัน โดยเฉพาะการอพยพประชาชนที่เข้าไปบุกรุกในพื้นที่ดังกล่าวออกมา และจัดสรรที่ว่างให้อยู่ไปพลางก่อน หลังจากนั้นให้เร่งรัดดำเนินการเรื่องการจัดสรรที่ทำกินให้กับประชาชนดังกล่าวต่อไป

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางส่วนได้มีการให้ข้อมูลในลักษณะที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงกับประชาชน ว่า ในสมัยก่อนได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนไปปลูกยางในพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกซึ่งดีกว่าวิธีการอย่างอื่น เพราะทำให้เกิดพื้นที่ป่ามากขึ้นนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ผิดหลักการ ซึ่งการที่จะเป็นป่าได้ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพต้องมีพืช และมีต้นไม้หลายชนิดในพื้นที่ ดังนั้นส่วนที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางส่วนได้ให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าว คงจะเป็นความเข้าใจที่ผิด จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำชับไม่ให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนในลักษณะเช่นนี้ เพราะว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการบุกรุงการใช้พื้นที่ป่าไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนให้มีความชัดเจน และกำหนดเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตรงนี้ได้โดยไม่ไปรบกวนสภาพของป่าสงวนและป้องกันการบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนได้ โดยได้มอบหมายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.) เป็นหน่วยงานหลักเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่เขตป่าเศรษฐกิจซึ่งจะมีการปลูกขึ้นใหม่และอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าสงวน

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องที่จะมีการจัดเวทีกลางเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน ทั้ง 2 สภา คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 09.30 น. โดยนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความมั่นใจกับทุกส่วนว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการที่จะเดินหน้าโดยไม่รับฟังข้อคิดเห็น หรือข้อมูลจากภาคส่วนที่มีความห่วงใย เพราะปัจจุบันข้อมูลในเรื่องของการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 มีข้อมูลอยู่ 2 ชุด โดยชุดที่ 1 คือข้อมูลของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือของกระทรวงพลังงาน อีกส่วนหนึ่งคือข้อมูลของกลุ่มผู้ที่ห่วงใยก็ทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นใจว่า ข้อมูลชุดใดเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถตัดสินใจได้ว่าประเทศไทยควรจะเดินไปในทิศทางใด โดยมีปัจจัยแวดล้อมอีกจำนวนมากที่เป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เรื่องของระยะเวลาที่มีอยู่ว่าก๊าซหรือปิโตรเลียมในพื้นที่จะอยู่ได้นานเพียงใด วิธีการแบบใดคือวิธีที่จะบริหารจัดการได้เหมาะสมที่สุดระหว่างรัฐลงทุนเองทั้งหมด หรือแบ่งปันผลประโยชน์หรือสัมปทาน ดังนั้นจึงเปิดให้มีเวทีกลางขึ้น เพื่อรับฟังข้อมูลทั้งสองด้านพร้อมกัน ซึ่งประชาชนต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจในวันนั้นว่าข้อมูลของใครหรือชุดใดที่มีความน่าเชื่อถือ และชัดเจนมากที่สุด ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลเมื่อได้รับฟังข้อมูลแล้วก็ยินดีที่จะนำข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวไปประมวลและประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางในดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้วิงวอนทุกฝ่ายว่า เวทีดังกล่าวได้มีการหารือพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้วก็ยังไม่ได้ข้อยุติ หวังว่าเวทีนี้คงจะเป็นเวทีสุดท้ายในการหาทางออกเรื่องนี้ เพราะหากพูดคุยกันไม่จบก็จะทำให้หาทางออกไม่ได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนที่จะนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบอย่างแท้จริงโดยไม่ใช่เป็นการโต้วาทีกัน และให้ทุกฝ่ายพยายามเปิดใจรับฟังข้อมูลของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ตั้งที่จะเอาชนะกันเพียงอย่างเดียว

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ