นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนฯ มอบกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งระบบ

ข่าวทั่วไป Thursday February 19, 2015 13:38 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กรอ. ครั้งที่ 1/58 มอบกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชนหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งระบบให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอมาตรการทางวีซ่าของภาคเอกชนไปพิจารณาเร่งรัดออกกฎกระทรวงเพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตราแบบเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง- ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียหรือกลุ่มประเทศยุโรป

วันนี้ (19 ก.พ.58) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 1/2558 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เลขาธิการ สศช.) ร่วมกับผู้แทนจากภาคเอกชน ได้แถลงข่าวผลการประชุมว่าที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชน 6 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย รวม 8 เรื่อง สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมได้ดังนี้

1. มาตรการขับเคลื่อน SMEs ระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงการคลังรับไปจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคเอกชน (กกร.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ ซึ่งรวมถึง

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

2. แนวทางการปฏิรูประบบรางของประเทศ ให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการระบบรางและกลไกนโยบายการบริหารจัดการที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับระเบียบและกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ และความต้องการของธุรกิจ และให้นำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ในการประชุมครั้งต่อไป

3. การพิจารณาจัดสรรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ให้กระทรวงพลังงานรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม

4. การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาออกประกาศกระทรวงการคลังใน

การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง ที่ได้รับฉลากประหยัดไฟฟ้าระดับเบอร์ 5 และเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

5. มาตรการทางวีซ่าเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวไทยในปี 2558 ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รับข้อเสนอมาตรการทางวีซ่าของภาคเอกชนไปพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ (1) เร่งรัดการออกกฎกระทรวงเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราแบบเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง (Multiple-Entry Visa) และ (2) ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือกลุ่มประเทศยุโรป โดยคำนึงถึงความสมดุลในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

6. ห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และการตรวจสอบสินค้าเพื่อการส่งออก ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน รับไปบูรณาการการใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่าย และประเภทของการให้บริการ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจด้วย

7. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ/กฎหมายควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม รับไปจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษจากแหล่งโรงงานในทางปฏิบัติก่อน ทั้งนี้ หากจำเป็นจึงให้มีการแก้กฎหมายหรือออกระเบียบรองรับ

8. ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้มุ่งเน้นที่การรวมกลุ่มของเกษตรกรและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นเป็นสำคัญ

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการส่งเสริมการค้าการลงทุนขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งในปี 58 นี้เป็นปีที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ฉะนั้นในเรื่องปัญหาข้ออุปสรรคต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีก็ได้เน้นที่จะขจัดปัญหาอุปสรรคเรื่องกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำพร้อมให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมใน 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีความชัดเจนในการกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดน 6 จังหวัดแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพราะรัฐบาลได้กำหนดสิทธิพิเศษในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนตามปกติแล้ว และรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกเรื่องแรงงาน ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.58) คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการจัดระบบแรงงานแบบเช้าไปเย็นกลับหรือแรงงานตามฤดูกาล รวมทั้งอนุญาตให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในเรื่องแรงงานนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องการฝึกอบรมฝีมือแรงงานกับเรื่องการดูแลสวัสดิการหรือหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม รวมทั้งภาครัฐก็จะนำสาธารณูปโภคกับโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย 2. การติดตามงานการยกระดับจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนให้เป็นด่านถาวร ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติก็ได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาทุกครั้งอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงมิติความมั่นคงด้วย ฉะนั้นในทุกด่านที่ได้เคยมีข้อเสนอขึ้นมานั้น ภาครัฐจะดำเนินการให้กับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน ยกเว้นในบางจุดที่ยังติดขัดในเรื่องของความมั่นคง ก็ต้องขอให้ภาคเอกชนเข้าใจในมิติของความมั่นคงด้วย 3. การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ซึ่งเคยมีข้อเสนอเรื่องศูนย์ทดสอบล้อยาง/ผลิตภัณฑ์ยาง โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและขอให้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีการหารือถึงรูปแบบการลงทุนต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ