สวทช. ร่วมกับ ไมโครซอฟท์ จุดประกายเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์แห่งใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday February 19, 2015 17:55 —สำนักโฆษก

วันนี้ 18 มกราคม 2558 เวลา 13.30 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ (Microsoft Innovation Center) ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารพรจอมเกล้า สป.วท. ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าผลักดันการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยขานรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการเปิดศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Innovation Center (MIC) ขึ้น
          ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ณ สวทช. นับเป็นหนึ่งใน 113 ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก โดยมุ่งให้บริการทรัพยากรและความช่วยเหลือด้านไอทีระดับโลก สำหรับนักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการ และ     สตาร์ทอัพ ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมทักษะการเขียนแอพพลิเคชั่นให้กับนักศึกษา การจับคู่ธุรกิจ และให้คำปรึกษาในการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเร่งอัตราการเกิดของบริษัทและการสร้างงานแรงงานไอทีที่มีคุณภาพ อันนำมาซึ่งการขยายตัวของระบบนิเวศไอทีของประเทศไทยในอนาคต ที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 10.5 จากปี 2557 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2558    ทั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ในประเทศไทย ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2551  ด้วยความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์ สวทช. สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย  และศูนย์ศึกษาสาทรธานี มหาวิทยาลัยรังสิต โดยปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์แห่งนี้ ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ สำนักงานของ สวทช. ณ ซอยโยธี ถนนพระราม 6

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ (Digital Economy Promotion) รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการพัฒนาทักษะไอทีให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและส่งเสริมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ โดยเฉพาะในหมู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบกับการร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน นับตั้งแต่ปี 2551 เราได้ทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ ในการสร้างอนาคตดิจิทัลของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กร ประเทศไทยเองกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่เทคโนโลยีจะสามารถช่วยสร้างรายได้และเพิ่มการขยายตัวให้กับจีดีพีของประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเอสเอ็มอีของไทย ได้รับแรงสนับสนุนทางเทคโนโลยีและเครื่องมืออย่างเต็มที่ จะสามารถแข่งขันกับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ในตลาดโลก”

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สวทช. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและสร้างระบบนิเวศไอทีของประเทศไทยให้แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการแข่งขันมากขึ้น สวทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีและโครงการระดับโลกต่างๆ ของไมโครซอฟท์ มาช่วยพัฒนาบุคลากรไทยในอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไทย โดยบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งในการร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ การฝึกอบรมเทคโนโลยีระดับโลกล่าสุด (Skills Development) ให้กับบุคลากรของ NSTDA Academy มีการนำงานวิจัยของ NECTEC มาต่อยอดพัฒนาออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานในวงกว้าง (Application Development) โดยเฉพาะเมื่อเราได้เข้าสู่ยุคในยุคของโมบายและคลาวด์ และการร่วมมือกับ SOFTWARE PARK ในการการพัฒนาระบบนิเวศไอที (Ecosystem Development) บ่มเพาะและสนับสนุนผู้ประกอบรายใหม่ ด้านซอฟต์แวร์และเงินทุน ผ่านการสนับสนุนของโครงการอย่าง ไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค และ ไมโครซอฟท์ เวนเจอร์ เป็นต้น”

นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยวิสัยทัศน์ ‘We Make 70 Million Lives Better’ ในวันนี้ ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศไอทีของประเทศไทย ผ่านการพัฒนาทักษะ ส่งเสริมนวัตกรรม และมอบโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือและโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ จากความเชี่ยวชาญระดับโลกของเรา ไมโครซอฟท์เชื่อว่าศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมระบบนิเวศไอทีที่จะกลายมาเป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไมโครซอฟท์มีความยินดีและพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ที่จะร่วมมือกับ สวทช. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”

          ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ร่วมสร้างการเติบโตให้กับระบบนิเวศไอทีไทย โดยตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการเปิดศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ได้มีการฝึกอบรมทักษะการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับนักเรียนกว่า 3,000 คน              ด้วยหลักสูตรแบบมืออาชีพที่เปิดอบรมทุกปี  เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกงานจากการทำงานจริงในอุตสาหกรรมไอที โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบวินโดวส์ โฟน และวินโดวส์ 8 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมากกว่า 1,000 แอพ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแอพฯ ให้กับองค์กรที่มีชื่อเสียง อย่าง การบินไทย ปตท.              เอสเอฟ ซีเนม่า และไทยรัฐ นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพกว่า 50 ราย ที่เริ่มต้นจากศูนย์แห่งนี้  ทั้งยังมีนักพัฒนารุ่นใหม่อีกมากมายที่ได้รับการจ้างงานผ่านเครือข่ายของศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ มีบริษัทผู้พัฒนาระบบ (ISV) อีกมากกว่า 400 รายได้รับการสนับสนุน และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค (Microsoft BizSpark) สตาร์ทอัพวีคเอนด์ และการแข่งขันเทคโนโลยีสำหรับนักศึกษาอย่าง อิมเมจิ้นคัพ (Imagine Cup)

รายละเอียดผลงานนักศึกษาศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ และโครงการ Microsoft Imagine Cup มีดังนี้

ประเภท นักศึกษาที่ผ่านการอบรมกับ MIC และกลายมาเป็นสตาร์อัพ

1.บริษัท Tech Farm Co., Ltd. ชื่อแอพพลิเคชั่น : Len Din รายละเอียด : เครื่องมือวิเคราะห์สภาพดินสำหรับเกษตรกร รายชื่อผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น มีดังนี้ 1.นายศรัญญู รุ่งตระกูลชั2.นายธนชัย พินิจสะวะ3.นายปริวรรษ ทองเนื้อสุข 4.นายอานนท์ บุณยประเวศ 5.นายอรัญ ตันตยานนท์

2.บริษัท Softever Co., Ltd ชื่อแอพพลิเคชั่น : Oliv 2.0 รายละเอียด : ระบบจัดการสื่อการเรียนในรูปแบบวีดิโออัตโนมัติ

โดยมีรายชื่อผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ดังนี้ 1.นายนพพล พิลึกเรืองเดช 2.อนวัช จาตุประยูร

3.บริษัท Volevi Co., Ltd แอพพลิเคชั่น : บนระบบวินโดว์โฟน Thai TV 3 และ Thai Airways รายละเอียด : บริษัทผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนระบบวินโดวส์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีรายชื่อผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ดังนี้ 1.นายปุญญ์ จตุรพิจร 2นายทัศน์ วิชิตชัย

4.บริษัท Softsion Co., Ltd. แอพพลิเคชั่น : ตรวจจับป้ายทะเบียนรถปลอมบนท้องถนน รายละเอียด : เครื่องมือประมวลผลจากรูปภาพ (image processor) สำหรับตำรวจจราจรในการวิเคราะห์แยกแยะป้ายทะเบียนรถปลอมที่วิ่งอยู่บนท้องถนน โดยมีรายชื่อผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ดังนี้ 1.นายฤทธิ์ ลางพนม 2.นายกษิดิศ วิจิตรโสภณ

5.บริษัท 24dvlop แอพพลิเคชั่น : Gas Station is here ที่ช่วยค้นหาปั้มบริการน้ำมันบริเวณใกล้เคียง และแอพพลิเคชั่น

Weather HD : แอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศในรอบสัปดาห์ ตรวจจับป้ายทะเบียนรถปลอมบนท้องถนน รายละเอียด : ผู้ให้บริการพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์แอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยมีรายชื่อผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ดังนี้ 1.นายจาตุรงค์ ทองคำ 2.นายปรินทร์ ตฤณติยะกูล

ประเภท แอพพลิเคชั่นจาก บริษัทผู้พัฒนาซอฟแวร์อิสระ (ISV)ที่ได้รับหารพัฒนาโดยนักศึกษา MIC

1.บริษัท Arunsawad แอพพลิเคชั่น : Anywhere 2 Claim รายละเอียด : แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสำหรับพนักงานเคลมประกันรถยนต์

2.บริษัท Synature แอพพลิเคชั่น : iOrder รายละเอียด : เป็นแอพพลิเคชั่นบนแท็บเล็ตสำหรับสั่งอาหารจากร้านอาหาร

ประเภท นักศึกษาอิมเมจิ้นคัพ ที่พัฒนาเป็นสตาร์อัพ

1.บริษัท Ask-Dom แอพพลิเคชั่น : ระบบ Dom รายละเอียด : เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย (Social Media Analytics)

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์,นายรัฐพล หงสไกร

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร: 02 333 3727-32 โทรสาร: 02 333 3834 อีเมลล์: pr@most.go.th เฟสบุ๊ค: sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ