คตช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เร่งขับเคลื่อนงานต่อต้านการทุจริต

ข่าวทั่วไป Friday February 27, 2015 13:20 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2558 เห็นชอบแต่งตั้ง 4 คณะอนุกรรมการเร่งขับเคลื่อนงานต่อต้านการทุจริตให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (27 ก.พ.58) เวลา 14.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จ้นทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2558 ร่วมกับคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดย คตช. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 4 คณะ ซึ่งมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ที่มีนางจุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานอนุกรรมการ นายจาฤก กัลย์จาฤก เป็นที่ปรึกษา มีอำนาจหน้าที่ ในการจัดทำแนวทางและมาตรการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและรณรงค์ค่านิยมการต่อต้านการทุจริต ประสานงานและระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ให้สามารถขับเคลื่อนการปลูกฝังจิตสำนึกและรณรงค์ค่านิยมการต่อต้านการทุจริต ดำเนินการรณรงค์ร่วมกับสื่อมวลชนและสื่อสังคมเพื่อรณรงค์ค่านิยมการต่อต้านการทุจริต ดำเนินกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกและรณรงค์ค่านิยมการต่อต้านการทุจริต จัดทำข้อเสนอแนะในการปลูกจิตสำนึกและรณรงค์ค่านิยมการต่อต้านการทุจริต และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอโรดแม็ปการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ที่มีทิศทางยุทธศาสตร์สองด้านคือ 1) ยุทธศาสตร์การศึกษา การขับเคลื่อนด้วยหลักสูตร เช่น “โตไปไม่โกง” ผ่านกลไกการศึกษาและการอบรมเลี้ยงดูเด็ก มีกลุ่มเป้าหมายคือครูและนักเรียนในสถานศึกษาตั้งแต่ อนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน ผู้ปกครอง 2) ยุทธศาสตร์สื่อสู่สังคม การขับเคลื่อนด้วยการใช้สื่อรณรงค์ สร้างกระแส “คนไทยไม่โกง” มีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปโดยผลิตและใช้สื่อแยกเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มประชาชนที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ทั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และมีแผนดำเนินงานโรดแม็ป 3 ระยะ รวม 9 เดือน แบ่งเป็น ระยะที่ 1 การเตรียมการ 2 เดือน ระยะที่ 2 ดำเนินการ 6 เดือน และระยะที่ 3 ติดตามผล 1 เดือน

2. คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ที่มี รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค เป็นประธานอนุกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ และ พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ เป็นรองประธานอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ บูรณาการแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันการทุจริตที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย เพื่อวางระบบในการป้องกันการทุจริตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เสนอแนวทางหรือมาตรการป้องกันการทุจริต เพื่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ พิจารณากำหนดเป็นมาตรการต่อไป ศึกษา ติดตามผลการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริตของหน่วยงานราชการและองค์กรภาคประชาชน ที่มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีเด่น เพื่อขยายผล จัดประชุมสัมมนา เพื่อเสริมสร้างพลังทางสังคมในการป้องกันการทุจริต โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอแผนการดำเนินงาน รวม 3 ระยะ คือ 1. แผนระยะ 3 เดือน ได้แก่ รวบรวมข้อเสนอจากองค์กรต่าง ๆ นำเสนอมาตรการจัดเรียงตามลำดับความสำคัญ เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ รวบรวมงานป้องกันที่ติดค้าง ติดขัด ล่าช้า เป็นต้น 2. แผนระยะ 6 เดือน ได้แก่ จัดประชุมสัมมนาเครือข่ายต่อต้านการทุจริต 4 ครั้ง มาตรการตั้งหน่วยงานกลั่นกรองงบประมาณแผ่นดิน ทำ KPI เป้าหมายการดำเนินการ เป็นต้น 3. แผนระยะ 12 เดือน ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติ เกิดมาตรการที่ยั่งยืนหลังการเลือกตั้ง สรุปเป็นรายงานและข้อเสนอแนะ

3. คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ ที่มี รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุกรรมการ พลเอก ธนา วิทยวิโรจน์ และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นรองประธานอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ กำหนดเป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์โครงการ และกิจกรรมในการประชาสัมพันธ์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นพร้อมทั้งงบประมาณในการดำเนินการ ควบคุมกำกับการดำเนินงานและรายงานผลการปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรค ให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติทราบ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่มีเป้าประสงค์ การรับรู้ เข้าใจ และตื่นตัวในมหันตภัยของการทุจริตคอร์รัปชั่นของทุกภาคส่วน และเข้าร่วมกิจกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐอย่างมีพลังสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์ผู้นำกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะภัยทุจริตคอร์รัปชั่น 2 กิจกรรม 2. ยุทธศาสตร์สร้างแรงบันดาลใจ (กระตุ้น) ให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงภัยของการทุจริตคอร์รัปชั่น 1 โครงการ 2 กิจกรรม 3. ยุทธศาสตร์ยกระดับการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น 1 โครงการ 4 กิจกรรม 4. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 1 โครงการ 4 กิจกรรม

4. คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่มี อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นรองประธานคนที่ 1 รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง/ที่ปรึกษา เป็นรองประธานคนที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ อำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแล การใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม ตามที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติอนุมัติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการระบบข้อตกลงคุณธรรม พิจารณากำหนดแนวปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากการดำเนินงานการใช้ข้อตกลงคุณธรรม กับโครงการนำร่อง ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลรายงาน เพื่อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรมให้เหมาะสมและเป็นสากล พิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการเป็นผู้สังเกตการณ์ของโครงการนำร่อง เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำทางวิชาการ หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ