สธ.จัดอบรมการ “ปั๊มหัวใจ” ให้นักข่าว เจ้าหน้าที่ รปภ. แม่บ้าน คนสวน ช่วยชีวิตคนหัวใจวาย

ข่าวทั่วไป Wednesday February 25, 2015 16:58 —สำนักโฆษก

กระทรวงสาธารณสุขจัดอบรมความรู้และทักษะการปั๊มหัวใจ ช่วยชีวิตเบื้องต้นคนหัวใจวาย และการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ แก่สื่อมวลชน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานรักษาความสะอาด เพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วย ระหว่างรอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ 1669

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (เออีดี : AED) แก่ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด คนดูแลสวน จำนวน 60 คน เพื่อเพิ่มพัฒนาความรู้และทักษะในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการปั๊มหัวใจ และการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ให้สามารถช่วยชีวิตแก่ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้อย่างถูกต้อง

นายแพทย์วชิระกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภากาชาดไทย รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกว่า หัวใจวาย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558 เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการแก่ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในภาพรวมทั่วประเทศพบคนไทยเสียชีวิตจากหัวใจวายเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน สูงเป็นอันดับ 3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด

นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจตีบ การแพ้ยาหรือการแพ้พิษแมลงกัดต่อยอย่างรุนแรง ไฟฟ้าดูด สำลักควันไฟ หรือจมน้ำ เมื่อหัวใจหยุดเต้น จะไม่มีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยจะหมดสติ ไม่มีชีพจร ไม่หายใจตามปกติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือก็จะทำให้เสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ ดังนั้นหากผู้ใกล้ชิด หรือผู้ประสบเหตุ มีความรู้ในการกู้ชีพและมีเครื่องเออีดีอยู่ในบริเวณนั้น สามารถใช้กระตุ้นหัวใจผู้ที่หัวใจวายได้อย่างถูกต้องภายในเวลา 3-5 นาที ระหว่างรอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 37 โดยที่สมองของผู้ป่วยยังไม่ขาดเลือด ลดความพิการที่อาจเกิดตามมา

ทั้งนี้ การอบรมครั้งนี้ ใช้หุ่นยางขนาดเท่าคนจริง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ที่ผ่านการอบรม จะได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์

25 กุมภาพันธ์ 2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ