ประชุมคณะกรรมการร่วม ไทย-จีน ครั้งที่ 2 เปิดเวทีเชียงใหม่ถกความร่วมมือ วทน. 4 ด้าน

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 15:57 —สำนักโฆษก

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งราชอาณาจักรไทย (Assoc.Prof.Weerapong Pairsuwan, Permanent Secretary Ministry of Science and Technology(MOST),Thailand) และศาสตราจารย์เฉา เจี้ยนหลิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน (Prof. CAO Jianlin, Vice Minister of Science and Technology of the People’s Republic of China) เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 2 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 2-3 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

สืบเนื่องจากไทยและจีนต่างเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นร่วมกันจะพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ ตามเป้ามายของกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน (Science and Technology Partnership Program-STEP) และความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงที่มาความร่วมมือดังกล่าวว่า“เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรรมการร่วม ครั้งที่ 1 ถือเป็นที่มาของการให้คำมั่นร่วมกันในการผลักดันการดำเนินงานใน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน (Thailand-China Joint Research Center) (2) โครงการศูนย์ให้บริการข้อมูลการสำรวจดาวเทียมระยะไกล (Remote Sensing Satellite Data Service Platform) (3) โครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ไทย-จีน (Thailand-China Technology Transfer Center-TCTTC) และ (4) โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (Talented Young Scientist Visiting Program-TYSP) และการกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 2 ณ ประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการทบทวนความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ผ่านมา และการสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการผลักดัน/กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ ตลอดจนประเด็นความร่วมมือใหม่ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสองประเทศให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง

การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 นี้ ได้ต่อยอดและผลักดันความร่วมมือให้ก้าวหน้าทั้ง 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (Talented Young Scientist Visiting Program-TYSP) ที่ผ่านมาฝ่ายจีนให้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยของไทย ในการเดินทางไปทำวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเป่ยจิง เจียงทง ดังนั้น ในปี 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย จะให้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยจากประเทศจีน ในการเดินทางมาปฏิบัติงาน/ทำวิจัย จะเป็นก้าวสำคัญในการสานต่อความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดจนวางแผน ปี 2559 โดยคาดหวังให้คณะทำงานฝ่ายจีนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ร่วมกันในสาขาดาราศาสตร์ ฝ่ายไทยจะส่งนักวิทยาศาสตร์ไปทำร่วมทำวิจัยในประเทศจีนจำนวน 10 คน ในสาขารถไฟความเร็วสูง การสำรวจระยะไกล นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี พลังงานทดแทน ฯลฯ โดยฝ่ายจีนจะส่งนักวิทยาศาสตร์มาร่วมทำวิจัยจำนวน 2-4 คน และเสนอให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนไปเข้าร่วมการฝึกอบรมที่จีนในสาขาที่สนใจ โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน ทั้งนี้ทางจีนยังได้เสนอให้ไทยเข้าร่วมงาน การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ อาเซียน +3 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และทางประเทศไทยจะส่งผู้แทนไปยังหน่วยงานที่จะรับนักวิทยาศาสตร์ไทยไปทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ

2) โครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (Thailand-China Technology Transfer Center-TCTTC) ไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เห็นได้จากการนำผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการประชุม Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation และร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ในงาน China-ASEAN Expo ต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปี โดยมีกิจกรรมที่สะท้อนความสำเร็จที่ผ่านมาและความร่วมมือในอนาคต ได้แก่การเปิดสำนักงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน โดยคณะทำงานฝ่ายไทยได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ประกอบกับปี พ.ศ.2558 เป็นปีแห่งความสิริมงคล ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่าย จึงได้กำหนดกิจกรรมความร่วมมือ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ (1) พิธีเปิดสำนักงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (2) การจัดค่ายเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย-จีน ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (Sirindhorn Science Home) และ (3) การประชุม Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน China-ASEAN Expo ในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไทยได้บรรจุกิจกรรมความร่วมมือดังกล่าวไว้ในแผนงานเฉลิมฉลองของรัฐบาลไทยด้วย

3) โครงการศูนย์ให้บริการข้อมูลการสำรวจดาวเทียมระยะไกล (Remote Sensing Satellite Data Service Platform) คณะทำงานฝ่ายจีน ได้สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือ ตลอดจนดำเนินการติดตั้ง Data Service Platform ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมสร้างเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของบุคลากรไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนให้พัฒนาขึ้นมาทัดเทียมกับจีนได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนข้อมูลดาวเทียมของจีน (CBERS-04) โดยไม่คิดมูลค่า และคณะทำงานฝ่ายไทยคาดหวังความร่วมมือที่จะพัฒนาร่วมกับจีนให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การร่วมพัฒนาระบบ data service terminal (Cloud Service Platform for Remote Sensing) ให้สามารถรองรับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชตสำหรับให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ประโยชน์ต่อไป

4) โครงการศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน (Thailand-China Joint Research Center) คณะทำงานฝ่ายจีนได้มุ่งมั่นและทุ่มเทในการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รวมถึงการเปิดสำนักงานโครงการศูนย์วิจัยร่วม (Preparation Office) ณ ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญที่บ่งชี้ความสำเร็จอีกขึ้นหนึ่งของการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกัน

สำหรับในอนาคตไทยคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากจีน โดยเฉพาะการผลักดันการจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน ให้เป็นผลสำเร็จ โดยฝ่ายไทยยินดีมอบหมายให้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency-NSTDA) เป็นคณะทำงานโครงการความร่วมมือด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทน โดยรวมกับคณะทำงาน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน ที่มีอยู่เดิม ซึ่งในปัจจุบันคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Scientific and Technological Research-TISTR) และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทย เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมอยู่ในคณะทำงาน จึงมั่นใจว่าคณะทำงานฝ่ายไทยมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งที่จะผลักดันกิจกรรมความร่วมมือได้ครอบคลุมเป้าหมายความร่วมมือทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันวิจัย/หน่วยงานของไทยและจีน นับจากการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 1 ที่จีนได้เสนอความร่วมมือด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทน ทางฝ่ายไทยจึงได้สานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการด้านพลังงานให้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation ก่อให้เกิดบรรยากาศในการเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ตลอดจนการลงนามความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานวิจัยท้องถิ่นของจีน ทางประเทศไทยคาดหวังจะได้ขยายและพัฒนาความร่วมมือด้านด้านพลังงานผ่านกิจกรรมความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาร่วมระหว่างหน่วยงานไทย-จีนต่อไป

ทั้งนี้ ไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นคณะทำงานโครงการความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีความร่วมมือด้านการวิจัยนโยบาย วทน. ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันเป็นระยะเพื่อสำรวจฐานทั้งในประเทศไทยและจีน และไทยยินดีสนับสนุน China-ASEAN Science Technology and Innovation Policy Collaboration Network และให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นคณะทำงานย่อย ภายใต้คณะทำงานด้าน Space Technology Application และคาดหวังความร่วมมือและพัฒนาในการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี GNSS โดย GISTDA กับ NRSCC จะเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประสานงาน หน่วยงาน ผู้ประกอบการ/นักลงทุน/นักวิชาการของไทย จีน และประเทศอาเซียน เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีด้าน GNSS ไปใช้งาน และสร้างเป็น Solution ตอบสนองความต้องการของธุรกิจและตลาดภายในประเทศและภูมิภาคได้ (tbc)

หมายเหตุ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายจีน ที่ร่วมประชุมประกอบด้วย

  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
  • ผู้อำนวยการฝ่ายอาเซียนและแอฟริกา

เครดิตข้อมูลโดย : สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์

ข่าวโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ และ นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ