โฆษกกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 2015 13:52 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19 มี.ค. 58) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรองโฆษกกระทรวงการคลัง นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งนายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการรายงานความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศที่มีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

สำหรับมาตรการสำคัญของกระทรวงการคลังเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่

1. มาตรการทางการคลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งประกอบด้วย (1) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC) (2) มาตรการการคลังการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ตราด และ จ.สงขลา (3) มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (4) การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) และ (5) มาตรการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2. มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กระทรวงการคลังยังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่ใช้บริการหนี้นอกระบบกว่า 5.8 แสนครัวเรือน และที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินใด ๆ 1.3 ล้านครัวเรือน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพได้ ผ่านมาตรการสินเชื่อ Nano – Finance คาดว่าจะเริ่มให้สินเชื่อได้ในเดือนพฤษภาคม 2558

รองโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวต่อว่า ในปี 2558 นี้ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 – 4.4 ต่อปี) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการของกระทรวงการคลังในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้น กว่า 600 ล้านคนทั่วอาเซียนด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก ได้แก่

1. โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจและทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 ซึ่งได้ผลสำเร็จโครงการในปี 2557 คือสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ กิจการ และบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมได้กว่า 7,094 ราย 600 กิจการ และ 5,145 ราย ตามลำดับ

2. โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต และ

3. โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่จำนวน 1,890 ราย

สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่มีความโดดเด่นและมีทิศทางในการขยายตลาดได้ดี สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี 25558 ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนประมาณ 1,146.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีการพัฒนามายาวนนามีทักษะความชำนาญ และมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร หากสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีศักยภาพได้ก็จะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดรายจ่ายของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการฟื้นตัว โดยได้ดำเนินการจัดงาน ธงฟ้าราคาประหยัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชน สามารถลดค่าครองชีพ และชะลอการปรับขึ้นราคาของสินค้าในท้องตลาด รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้กว่า 6.59 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 357 ล้านบาท ธงฟ้าสู่ชุมชน เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงสินค้าราคาประหยัดมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้นำรถกระบะ 4 ล้อ ลงพื้นที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดในแหล่งชุมชนกว่า 750 แห่ง สามารถลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้ประมาณ 34 ล้านบาท เทใจคืนสุขสู่ประชาชน โดยจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ลดราคาสินค้าจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาประหยัด เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จ มีเงินหมุนเวียนกว่า 50,000 ล้านบาท และในช่วงเปิดเทอมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้จะจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ ภายใต้โครงการเทใจคืนสุขต้อนรับเปิดเทอม โดยจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียน ตลอดจนสินค้าอุปโภค/บริโภคต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนให้ได้ผลอย่างยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ด้วยการปลูกฝังค่านิยม ฉลาดซื้อประหยัดใช้ โดยรู้จักอ่านฉลากสินค้าจนเป็นนิสัย สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ให้ประโยชน์สูงสุด การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมโดยผ่านแอพพริเคชั่น “ลายแทงของถูก” โดยให้ประชาชนดาวน์โหลดฟรีลงในโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์แทปเลต เพื่อค้นหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และสามารถลดค่าครองชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม โดยผ่านโครงการเพิ่มรายได้ เพื่อช่วยเหลือชาวนา มีเป้าหมายจ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 3,565,401 ราย ในพื้นที่ 38,866,010 ไร่ จำนวนเงิน 38,866,010,250 บาท

สำหรับ โครงการชดเชยรายได้ให้ชาวสวนยางมีเป้าหมายจ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ ปัจจุบันได้มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 766,627 ราย ในพื้นที่ 7,695,768 ไร่ จำนวนเงิน 7,695.768 ล้านบาท ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม มีเป้าหมาย 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงิน 10,000 ล้านบาท ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้อนุมัติไปแล้ว 12,775 ครัวเรือน วงเงิน 1,186.32 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานเกษตรกรในงานชลประทาน มีเป้าหมายจ้างฯ จำนวน 44,388 ราย ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 37,569 ราย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางอ้อม 2 มาตรการ ได้แก่ โครงการปลูกพืชฤดูแล้ง จำนวน 10.88 ล้านไร่ และโครงการช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซาก ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยได้ฝึกอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อส่งเสริมอาชีพการประมง โดยให้เลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก เลี้ยงกบในกระชัง ซึ่งดำเนินการไปแล้วใน 3 จังหวัด (จ.ชัยนาท จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.เพชรบุรี) รวมทั้งโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เป้าหมาย 3,052 ตำบล ตำบลละ 1,000,000 บาท ซึ่งมีการเสนอโครงการมาแล้วจำนวน 1,500 ตำบล และได้เห็นชอบโครงการไปแล้ว 707 โครงการ ใน 385 ตำบล (43 จังหวัด) ในวงเงินประมาณ 334 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่า ภายในเดือนเมษายนศกนี้จะสามารถให้ความเห็นชอบโครงการครอบคลุมทั้ง 3,052 ตำบล เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินการบริหารจัดการ พัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองได้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

อภินันท์ จันทรา/รายงาน

ดวงใจ กล่อมจิตต์/ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ