สถานการณ์เศรษฐกิจและผลการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลัง “นโยบายการคลังช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทย”

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 2015 16:14 —สำนักโฆษก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ว่า “เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ฟื้นตัว ช้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กระทรวงการคลังจึงเร่งใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในยามที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัว เปราะบาง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ว่า “เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กระทรวงการคลังจึงเร่งใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในยามที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัวเปราะบาง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่”

1. เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากวิกฤติการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศหดตัว อีกทั้งในขณะนั้นรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณและดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถานการณ์การเมืองปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศและสามารถออกนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี เทียบกับครึ่งแรกของปีที่ไม่ขยายตัว

นอกจากนี้ ในปี 2557 เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับมั่นคง ดังจะเห็นได้จาก อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่เพียงร้อยละ 1.9 ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกก็มีความมั่นคงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 3.8 ของ GDP และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 154.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเป็น 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

2. นโยบายการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

2.1 ภาครัฐบาลได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 - 13 มีนาคม 2558 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 1.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.3 ของกรอบวงเงินการใช้จ่ายของปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ในกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท

2.2 ฐานะการคลังมีความมั่นคงและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 ขาดดุล -4.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงบทบาทภาครัฐในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังรักษาไว้ซึ่งวินัยการคลังอย่างเคร่งครัดอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้หนี้สาธารณะคงค้างต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP โดยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 46.5 ของ GDP

3. มาตรการสำคัญของกระทรวงการคลังเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว

3.1 มาตรการทางการคลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

3.1.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในภูมิภาค โดยจะสามารถได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 สำหรับการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศ และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงต่างด้าวเหลือร้อยละ 15 เป็นต้น

3.1.2 มาตรการการคลังการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ตราด และ จ.สงขลา โดยมีมาตรการ (1) มาตรการทางการเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน และการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ (2) มาตรการทางภาษี โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

3.1.3 มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้มีต้นทุนทางภาษีที่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการ รายใหญ่ได้โดยจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับช่วงกำไรสุทธิช่วง 1,000,000 บาท ถึง 3,000,000 บาท จากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 15 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

3.1.4 การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ของประเทศ ให้เติบโตและแข็งแรง โดยเข้าร่วมทุน ผ่านกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของกิจการ SMEs ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้นโดยได้กำหนดแนวทางให้มีลักษณะเป็นกองทุนเปิด ระหว่างภาครัฐและเอกชน กำหนดขนาดวงเงิน 10,000-25,000 ล้านบาท (เบื้องต้นรัฐบาลจะร่วมทุนผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) จำนวนเงิน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นภาคเอกชน) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมด้านเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิตอล

3.1.5 มาตรการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ โดย (1) ยกเว้นอากรขาเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีผลิตในประเทศ เครื่องจักร เครื่องมือ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตราอากรขาเข้าต่ำอยู่แล้ว จำนวน 1,274 ประเภทย่อย เช่น มอลต์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องจักรสำหรับประกอบแผงวงจรย่อย ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น และ (2) ปรับลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตลงที่ยังมีอัตราอากรขาเข้าสูงเหลือร้อยละ 10 จำนวน 258 ประเภทย่อย เช่น เครื่องจักรกลที่ใช้แรงงาน เครื่องจักรใช้เชื่อม เป็นต้น

3.2 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ

ในส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กระทรวงการคลังได้ดำเนินการผ่านมาตรการทั้งในรูปแบบการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ตลอดจนกลุ่มประชาชนทั่วไป วงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรวงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการขนาดเล็กมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ

นอกจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงการคลังยังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพรายย่อย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการหนี้นอกระบบกว่า 5.8 แสนครัวเรือน และที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆ 1.3 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท. ปี 2556) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพได้ ผ่านมาตรการสินเชื่อ Nano-Finance ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นขอจดทะเบียนมาแล้วทั้งสิ้น 14 ราย โดยยื่นเอกสารครบแล้ว 3 ราย และอีก 11 รายกำลังตรวจสอบเอกสาร คาดว่าจะเริ่มให้สินเชื่อได้ในเดือนพฤษภาคม 2558

รองโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวโดยสรุปว่า “ในปี 2558 นี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4-4.4 ต่อปี) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการของกระทรวงการคลังในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีต่อไป”

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3244

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ