คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเกษตรกร 5 ปี

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2015 13:45 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเกษตรกร 5 ปี งบประมาณ 35,000 ล้านบาท พร้อมสั่งการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ เร่งจดทะเบียนผู้มีรายได้ทั้งหมดให้ทราบข้อมูลผู้เดือดร้อนอย่างชัดเจน เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้อง

วันนี้ (30 มี.ค.58) เวลา 08.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ภายหลังการประชุม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเกษตรกร ระยะเวลา 5 ปี รวมงบประมาณ 35,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 คาดว่าต้องใช้งบกลาง 1,800 ล้านบาท เพราะโครงการส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งยุทธศาสตร์ใหม่จะเน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมออกนโยบายใหม่เกี่ยวกับยางพาราในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะเน้นการลดปริมาณซัพพลาย ตั้งเป้าลดพื้นที่การเพาะปลูกยางพารา 1-2 ล้านไร่ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ป่า รวมทั้งจะส่งเสริมให้ชาวสวนยางพาราปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นให้มากขึ้นรวมทั้งเน้นส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มากขึ้นด้วย

นายปีติพงศ์กล่าวถึงเรื่องสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจคือการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร วงเงิน 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินว่าเกษตรกรที่จะเป็น NPL มีวงเงินเท่าไร โดยยังคงเงื่อนไข 10 ประการที่ตกลงกับกระทรวงการคลังไว้ สำหรับขั้นตอนคือหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นเจ้าของทุนจะต้องไปพิจารณาตามเงื่อนไขและพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของการจัดเป็นหนี้สูญตามเกณฑ์ของแต่ละทุน แล้วส่งไปที่กระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถใช้อำนาจในการตัดให้เป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่มีวงเงินหนี้ประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกระทรวงการคลังจะไปพิจารณาจัดหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ และต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะพยายามทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

นายปีติพงศ์กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ รีบทำมาตรการจดทะเบียนผู้ที่มีรายได้ทั้งหมดทั้งเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า แรงงานทั้งหมดในขณะนี้ โดยไม่ใช่การเน้นจัดทำเพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษี แต่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบข้อมูลชัดเจนว่าผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐอยู่ที่ใดและเป็นใคร เพราะทุกครั้งที่ภาครัฐให้การช่วยเหลือก็มีเสียงบอกว่าไปไม่ถึงชาวบ้าน จึงต้องรู้ให้ชัดเจนเป็นรายชื่อในตำบล หมู่บ้าน ว่าใครเป็นผู้ที่เดือดร้อน เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไปในอนาคตได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกันในกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไปและต้องรีบทำ เพราะเมื่อพ้นฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว มาตรการดังกล่าวจะได้ช่วยเหลือเกษตรกรและอาชีพอื่น ๆ ต่อไปให้มีความชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้นำเสนอความคืบหน้างานที่ได้ทำไปแล้วและงานที่กำลังดำเนินการในช่วงต่อไปที่จะเป็นฤดูกาลเพาะปลูก และกิจกรรมด้านการเกษตรจะเริ่มขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วย 1. เรื่องการช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ที่ในภาพรวมขณะนี้ได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้วประมาณ 96-97 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมีปัญหาเรื่องทรัพย์สิน ชื่อ ความแตกต่างเรื่องรายได้ ซึ่งจะต้องค่อย ๆ คัดกรองไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2. เรื่องตลาดเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ ที่เริ่มติดตลาดมีมูลค่าการซื้อขายมากขึ้นตามลำดับ แต่ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของสินค้าที่จะต้องแก้ไขต่อไป 3. เรื่องกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU ได้มีการจดทะเบียนเรือประมงไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งมีเรือประมงส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 กว่าลำที่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะดำเนินการออกใบอนุญาตให้ไม่ได้เนื่องจากเป็นเครื่องมือการประมงที่ผิดกฎหมาย และมีเรือไม่ทราบชื่อ ไม่ปรากฏสัญชาติที่แน่ชัด ไม่มีความชัดเจนว่าได้รับอนุญาตให้เดินเรือหรือไม่อย่างไร ซึ่งศุลกากรได้อายัดไว้และได้มีการฟ้องคดีกับทางตำรวจแล้ว รวมทั้งมีเรื่องที่จะเริ่มดำเนินการคือ Port In – Port Out ตรวจสอบเรือที่เข้ามาว่าเรือลำนั้นได้ไปที่ใดมาบ้าง ไปจับปลาที่น่านน้ำใดถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้มีเรื่องการประมงที่เกี่ยวพันกับการใช้แรงงาน ที่ขณะนี้มีความพยายามให้เรือทุกลำมีการทำสัญญากับแรงงาน แต่ก็ยังได้รับความร่วมมือน้อย ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการเรื่อง IUU ในวันที่ 2 เมษายนนี้อีกครั้งเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ 4. เรื่องการปรับวิธีการส่งเสริมการเกษตรโดยพยายามใช้โซนนิ่งและพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นหลัก เปลี่ยนหลักการใหม่ใช้วิธีการให้มีผู้จัดการโครงการในแต่ละพื้นที่ในโซนต่าง ๆ และในพื้นที่ที่มีการคัดเลือก ทั้งปศุสัตว์ ประมง หรือพืช เพื่อให้การสนับสนุนต่าง ๆ ได้ชัดเจนและตรงไปยังผู้ที่มีความเดือดร้อนจริง ๆ

สำหรับเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนที่จะถึงฤดูกาลเพาะปลูกว่า คือการจัดเงิน 1 ล้านบาทให้กับตำบลที่มีความแห้งแล้งซ้ำซากจำนวน 3,052 ตำบล โดยขณะนี้ได้มีการพิจารณาไปแล้ว 2,000 กว่าตำบลซึ่งอยู่ระหว่างการโอนเงิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 17 เมษายนนี้ และจะปิดโครงการภายในเดือนมิถุนายนเพราะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว ส่วนที่จะดำเนินการหลังฤดูกาลเพาะปลูกนั้นมีหลายโครงการ โดยส่วนที่เกี่ยวกับข้าวจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ช่วงบ่ายวันนี้ ส่วนเรื่องการพัฒนาปศุสัตว์จะเน้นทั้งกระบือ โค ไก่พื้นเมือง ที่จะให้จำนวนกระบือเป็นไปตามความเหมาะสม เพราะขณะนี้กระบือมีจำนวนน้อยเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านซื้อไปหมด ส่วนโคก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำนม ขณะที่ไก่พื้นเมืองที่ขณะนี้คนไทยเริ่มรับประทานกันมาก จึงพยายามที่จะให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร สำหรับเรื่องประมงนอกจากเรื่อง IUU แล้วจะมีเรื่องที่ขอเพิ่มเติมคือการปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่จะส่งออกไปต่างประเทศให้เหมาะสมกับเงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ ในเรื่องของปาล์มน้ำมัน จะมีโอกาสที่จะให้สหกรณ์ได้ขยายการพัฒนา การปลูก และการใช้ปาล์มน้ำมัน เป็นน้ำมันดิบให้มากยิ่งขึ้น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ