ผลประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กแล?เยาวชนแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 25, 2015 16:23 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญสรุปดังนี้

ทำเนียบรัฐบาล - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญสรุปดังนี้

เห็นชอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก

ที่ประชุมให้ความเห็นชอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก พ.ศ.2558-2564 (ระยะเวลา 7 ปี) ตามที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีการปรับกรอบระยะเวลาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

วิสัยทัศน์ “เด็กและเยาวชนทุกคนในราชอาณาจักรไทยปลอดจากความรุนแรงทุกรูปแบบ”

นโยบาย

1) มุ่งขจัดการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็กและเยาวชน

2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

3) เสริมสร้างความตระหนัก พัฒนาศักยภาพและทักษะการดำรงชีวิต โดยใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา

4) ปรับปรุง แก้ไข หรือตรากฎหมาย และผลักดันขับเคลื่อนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ

5) ให้มีการดำเนินงานและติดตามผล ในเรื่องการป้องกัน ช่วยเหลือ คุ้มครอง บำบัดฟื้นฟู แก้ไข และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง

6) ให้มีมาตรการเพิ่มเติมที่เหมาะสมในทุกเรื่องสำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง

7 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันการกระทำความรุนแรง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาความรุนแรงและเป็นผู้กระทำความรุนแรงเพื่อให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านกฎหมาย เพื่อตราหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 กลไกระดับชาติ ระดับพื้นที่ และการบริหารจัดการ มีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน เพื่อนำมาสร้างระบบฐานข้อมูล พร้อมทั้งให้มีขั้นตอน วิธีการ ระบบการเก็บข้อมูลรายบุคคลของเด็กและเยาวชนในพื้นที่และกลไกการทำงานทุกระดับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกทุกระดับ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประสานงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ระหว่างกลไกหน่วยงาน บุคลากรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน องค์กรธุรกิจ องค์กรสื่อสารมวลชน องค์กรกลุ่มเด็กและเยาวชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัย มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ นโยบายและยุทธศาสตร์ให้ทันต่อเหตุการณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 7 ความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับพหุภาคี และระดับภูมิภาค ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงที่สังคมให้ความสนใจ เช่น การตี การใช้ความรุนแรงในครอบครัวและสถานศึกษา จึงเสนอให้มีการรณรงค์และให้ความรู้ โดยนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการลงโทษรูปแบบอื่นๆ มารองรับ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูได้เห็นวิธีการลงโทษอื่นที่ได้ผลมากกว่าการตี เช่น การกอด การสัมผัส เป็นต้น โดยให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำกรอบแนวทางการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและคู่มือการดำเนินงาน เพื่อนำเสนอพร้อมกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก พ.ศ.2558-2564 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

เห็นชอบตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”

จากการที่ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนกลไกระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็กและเยาวชน ร่วมกับทีมประสานงานส่วนกลาง (Core Team) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ของ พม. และกรมอนามัย กระทรวงสาธารสุขให้เป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

ดังนั้น เพื่อให้การประสานขับเคลื่อนการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการคณะทำงานร่วมกัน (Task Force) พร้อมทั้งเพิ่มเติมองค์ประกอบและปรับปรุงอำนาจหน้าที่ เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบ การปรับชื่อคณะทำงานร่วม (Task Force) เพื่อประสานขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็น “คณะอนุกรรมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” พร้อมทั้งมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบและปรับปรุงอำนาจหน้าที่ เช่น เพิ่มปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายวัลลภ พลอยทับทิม เป็นอนุกรรมการที่ปรึกษา เป็นต้น

เห็นชอบให้เยาวชนในสถานศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน โดยไม่ถือเป็นวันลา

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนรายละเอียดร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการให้นักเรียนและนักศึกษาไปทำกิจกรรมนอกสถานศึกษา พ.ศ. .... โดยให้ปรากฏรายละเอียด เพื่อเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาไปร่วมกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนโดยไม่ถือเป็นวันลา เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ทบทวนร่างระเบียบดังกล่าวแล้ว จึงนำเสนอที่ประชุมพิจารณา

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการให้นักเรียนและนักศึกษาไปทำกิจกรรมนอกสถานศึกษา พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการปรับแก้ชื่อเป็น “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการให้นักเรียน นักศึกษาไปเข้าร่วมกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน พ.ศ. ....” และมีสาระสำคัญคือ ให้นักเรียนนักศึกษาไปเข้าร่วมกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนโดยไม่ถือเป็นวันลา แต่ก็จะต้องไม่กระทบเวลาเรียนอย่างมีนัยสำคัญด้วย เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ