นายกรัฐมนตรีสั่งการทุกกระทรวง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีงบประมาณโครงการที่เกินวงเงิน 50 ล้านบาทรายงานการดำเนินโครงการให้ คตร. รับทราบก่อนเสนอ ครม.รับทราบต่อไป

ข่าวทั่วไป Tuesday April 7, 2015 15:49 —สำนักโฆษก

วันนี้ (7 เม.ย.58) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือกับพายุฤดูร้อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยเกี่ยวเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในเชิงรุก โดยให้มีการตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงป้ายโฆษณาด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดพายุฤดูร้อน ป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นและให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายอย่างชัดเจนที่จะป้องกันไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกมาตรการในเรื่องของสัญญาคุณธรรมประกอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และตัวแทนจากภาคเอกชน เพื่อร่วมกันตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ซึ่งวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมว่า ให้ทุกกระทรวง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีงบประมาณในโครงการที่เกินวงเงิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้รายงานการปฏิบัติให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้รับทราบว่า โครงการที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น มีการดำเนินการอย่างไร บริษัทใดได้รับการจัดซื้อจัดจ้าง และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการ และโครงการที่อยู่ในแผนงานในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้าที่จะดำเนินการ ซึ่งทั้ง 3 กรณีดังกล่าวจะต้องรายงานให้ คตร. รับทราบ โดย คตร. จะเป็นผู้ออกแบบแบบฟอร์มสำหรับการรายงานดังกล่าว เพื่อให้สามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างชัดเจน และเป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญและสนใจกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ประมาณปลายเดือนเมษายน 2558 ให้ คตร. รวบรวมรายงานของทุกหน่วยงานเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ดำเนินการจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำไปรับประชาชนคนไทยที่ทำงานหรือศึกษาอยู่ที่ประเทศเยเมนกลับประเทศไทย เนื่องจากประชาชนคนไทยที่อาศัยอยู่ประเทศเยเมนประมาณ 200 คน ได้มีการประสานว่าต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเยเมนเริ่มรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยว่าเมื่อรับคนไทยที่อยู่ในประเทศเยเมนเดินทางกลับประเทศไทยแล้วจะต้องมีการเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือและดูแลรองรับไว้อย่างครบวงจร โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเยเมนทั้งหมดว่า มีหนี้สินที่ผูกพันไว้อะไรบ้าง และจะสามารถทำงานที่ไหนได้ ใครที่ยังไม่มีงานรองรับ กระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้คนไทยเหล่านั้นได้มีงานทำ เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระหนี้สินที่มีอยู่ก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเยเมนด้วย

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ได้มีการอภัยโทษให้กับผู้ที่ต้องขังในคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษชั้นดีที่มีคดีจำคุก หรืออยู่ในระยะเวลาที่ราชการกำหนดไว้ ประมาณ 38,000 กว่าคน นั้น ทำให้สังคมส่วนหนึ่งมีความเป็นห่วงว่าบุคคลเหล่านั้นจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างไร และมีโอกาสที่จะกลับไปกระทำความผิดจนทำให้กลับเข้ามาอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์อีกหรือไม่ โดย นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามกับกระทรวงยุติธรรมทำให้ทราบว่าในระยะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการสำรวจคนที่ได้รับการปล่อยตัวออกไปแล้วจะหวนกลับมาติดคุกอีกเป็นจำนวนเท่าไร ขณะที่ต่างประเทศมีการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบาย 2 เรื่อง คือ ต้องให้ความมั่นใจกับผู้ที่ได้รับการอภัยโทษ และให้เกียรติกับบุคคลเหล่านั้นให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี และมีงานทำ ขณะเดียวกันสังคมจะต้องเกิดความรู้สึกสบายใจ ปลอดภัยและไม่เกิดความวิตกกังวลว่าบุคคลดังกล่าวเหล่านี้จะกลับมากระทำผิดและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยทั่วไปหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับตรงนี้แน่นอน นายกรัฐมนตรี จึงกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้ ขั้นแรกให้มีการสำรวจ โดยส่งข้อมูลระหว่างกรมราชทัณฑ์กับกรมการปกครองว่าบุคคลที่ได้รับการอภัยโทษและถูกปล่อยตัวออกไปเป็นใครบ้าง สถานที่พักอาศัยอยู่ที่ไหน เพื่อให้กรมการปกครองไปสำรวจเพิ่มเติมว่าบุคคลเหล่านี้กลับไปแล้วมีงานทำหรือไม่ หลังจากนั้นให้กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยเหลือ โดยให้แรงงานจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการสำรวจข้อมูลและจัดหางานต่าง ๆ ให้ ทั้งนี้อาจจะต้องมีการฝึกอบรมอาชีพเพิ่มเติมรวมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ให้ดำเนินการได้ทันที โดยระยะแรกอาจะใช้วิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชทัณฑ์ กรมการปกครอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรี สั่งการสามารถดำเนินไปได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะมีการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถที่จะเชิญบุคคลที่ได้รับการอภัยโทษมารายงานตัว เพื่อสำรวจข้อมูลในเรื่องของการประกอบอาชีพ และสถานที่พักอาศัยที่แน่นอนว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้แจ้งไว้แต่เดิมหรือไม่ อีกทั้ง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน เพื่อดำเนินการจัดทำเป็นข้อกฎหมายที่ชัดเจนรองรับการปฏิบัติดังกล่าวในอนาคต

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ