การส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport : NMT) และการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Thursday April 2, 2015 13:50 —สำนักโฆษก

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้มีการเดินทางที่ใช้เครื่องยนต์ (NMT) และการปรับปรุงการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะที่สอดคล้องกับความต้องการเดินทางและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อมุ่งไปสู่การขนส่งอย่างยั่งยืน สนข. จึงได้ดำเนินการศึกษาระบบส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ และการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ โดยทบทวนและศึกษาการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Engineering) และการบังคับใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย (Enforcement) รวมถึงแนวทางการเพิ่มการศึกษา (Education) และการรณรงค์ส่งเสริม (Encouragement) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า โดยส่วนใหญ่การพัฒนาระบบส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์เริ่มจากการกำหนดทิศทางด้านแผนและนโยบาย จากนั้นจึงดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานเพื่อดึงดูดผู้ใช้งานเข้าสู่ระบบและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เดินทาง

สนข. ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ เพื่อเสนอแนะมาตรการปรับปรุงจุดเชื่อมต่อที่ควรใช้ดำเนินงาน ได้แก่ การติดตั้งป้ายบอกทางสัญลักษณ์บนทางเท้าให้ชัดเจน ก่อสร้างหลังคาคลุมทางเท้า ปรับปรุงผิวทางเดินเท้าเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยานและเพิ่มจุดจอดสำหรับจักรยาน จัดสร้างทางจักรยาน ปรับปรุงจุดรอรถโดยสารประจำทาง ปรับปรุงป้ายรถโดยสารประจำทาง จัดระเบียบรถโดยสารประจำทาง รถตู้ รถแท็กซี่ เป็นต้น รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองเพื่อเป็นเมืองต้นแบบ “เมืองแห่งจักรยาน” โดยคัดเลือก จ.พิษณุโลกในการดำเนินการ แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. แผนระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2559 - 2561) ถูกพัฒนาต่อยอดจากเส้นทางจักรยานตามแผนเส้นทางนำร่องเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นเส้นทางรอบสวนชมน่านและถนนริมแม่น้ำน่าน รวมระยะทางในการพัฒนา 5 ก.ม.

2. แผนระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564) มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวใน จ.พิษณุโลก โดยจุดจอดจักรยานหลักของแผนฯ จะอยู่ที่สถานีรถไฟ จ.พิษณุโลก และมีเส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยว รวมระยะทางในการพัฒนา 13.22 ก.ม.

3. แผนระยะกลาง (พ.ศ. 2565 - 2567) มุ่งเน้นที่การเดินทางภายในเมืองมากขึ้น กรอบของเส้นทางจักรยานจะเป็นเส้นทางสายหลักตามผังเมืองรวมเมืองพิษณุโลก รวมระยะทางในการพัฒนา 24.09 ก.ม.

4. แผนระยะยาว (พ.ศ. 2568 - 2570) มุ่งเน้นที่การเดินทางภายในเขตตัวเมืองหนาแน่นให้มีการใช้รถยนต์น้อยกว่าจักรยาน รวมระยะทางในการพัฒนา 23 ก.ม.

หากทำการพัฒนาเส้นทางจักรยานได้ครบตามแผนการดำเนินงานจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 24,300 ตัน Co2/ปี หรือสามารถลดการใช้พลังงานได้ 6.83 ktoe หรือลดการใช้น้ำมันเบนซิน จำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านลิตรในปี พ.ศ. 2580

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ