แนวทางและมาตรการของกรมการบินพลเรือน เพื่อป้องกันอันตรายจากการปล่อยโคมลอย โคมควัน และการยิงบั้งไฟ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2558

ข่าวทั่วไป Thursday April 9, 2015 13:32 —สำนักโฆษก

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรณีการปล่อยโคมลอย โคมควัน จุดพลุ และการยิง บั้งไฟ เพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับอากาศยาน พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ท่าอากาศยานภูมิภาคทุกแห่งในสังกัดกรมการบินพลเรือน (บพ.) รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการควบคุม และป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจกระทบต่อการบินและอากาศยาน รวมทั้งให้ตระหนักถึงอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยในการเดินอากาศเป็นสำคัญ ดังนี้

มาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายจากการปล่อยโคมลอย โคมควัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์

1. วัสดุที่ใช้ทำโคมลอยและโคมควัน ต้องทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ตัวโครงต้องทำจากไม้ไผ่ และต้องไม่ติดอุปกรณ์หรือวัสดุตกแต่งใดๆ ที่มีคุณสมบัติติดไฟง่าย หรือเกิดประกายไฟลุกไหม้ได้ง่าย

2. วัสดุส่วนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อทำให้อากาศร้อนที่บรรจุในตัวโคม เพื่อให้โคมยกตัวลอยขึ้น ควรทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน

3. ระยะเวลาการลอยตัวอยู่ในอากาศของโคมลอยไม่ควรเกิน 8 นาที และขนาดของโคมลอยต้องมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร

4. ผู้ที่จะปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน ต้องประสานงานแจ้งกับท่าอากาศยานหรือศูนย์ควบคุมการบินใกล้บริเวณพื้นที่ที่จะปล่อย ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน โดยกำหนดวันเวลา และสถานที่ปล่อยพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้อย่างน้อย 2 หมายเลข ส่วนการปล่อยโคมลอยในเทศกาล “ยี่เป็ง” ทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย จะต้องปล่อยในพื้นที่ที่กำหนดและต้องปล่อยหลังเวลา 21.30 น. โดย บพ. จะออกประกาศผู้ทำการในอากาศ (NOTAM) แจ้งเตือนให้นักบินเพิ่มความระมัดระวังในการทำการบิน ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

5. ผู้ควบคุมการปล่อยต้องแจ้งให้หอบังคับการบินทราบทันที ก่อนจะปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน และต้องเฝ้าติดตามการสื่อสารจากหอบังคับการบินตลอดระยะเวลาที่ปล่อย และแจ้งให้หอบังคับการบินทราบทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน

มาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายจากการยิงบั้งไฟ

1. วัสดุที่ใช้ทำบั้งไฟ ต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์ จากธรรมชาติ และต้องทำสัญลักษณ์แสดงการเป็นเจ้าของให้ชัดเจนเพื่อสะดวกแก่การตรวจสอบ และระยะสูงของบั้งไฟขึ้นไปในอากาศต้องไม่เกิน 5,000 ฟุต

2. ผู้แทนหมู่บ้านหรือชุมชนที่จะยิงบั้งไฟทุกครั้ง ต้องประสานกับอำเภอ หรือ อบต. ในท้องที่หรือชุมชนที่ตั้งอยู่

3. อำเภอ หรือ อบต. ต้องทำหนังสือแจ้งการยิงบั้งไฟ ไปยังท่าอากาศยานหรือศูนย์ควบคุมการบินใกล้บริเวณพื้นที่ที่จะยิงล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน โดยกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ที่จะยิงพร้อมด้วยหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้อย่างน้อย 2 หมายเลข

4. ห้ามยิงบั้งไฟในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ เช่น บริเวณรอบ ๆ ท่าอากาศยาน แนวร่อนลงและแนวไต่ขึ้นของเครื่องบิน

5. ผู้ควบคุมการยิงต้องแจ้งให้หอบังคับการบินทราบทันที ก่อนจะยิงบั้งไฟ ต้องเฝ้าติดตาม การติดต่อจากหอบังคับการบินตลอดเวลาที่ยิงบั้งไฟ และต้องแจ้งให้หอบังคับการบินทราบทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการยิงบั้งไฟ

ทั้งนี้ บพ. ได้กำชับให้ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพิ่มการดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้มากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการเดินอากาศเป็นสำคัญ

ที่มา : กรมการบินพลเรือน

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ