นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คตช. สั่งการ 20 กระทรวงเสนอโครงการที่ต้องทำข้อตกลงคุณธรรมเพิ่มเติม

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2015 09:57 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 3/58 สั่งการ 20 กระทรวงเสนอโครงการที่ต้องทำข้อตกลงคุณธรรมเพิ่มเติม เตรียมบรรจุหลักสูตรการเรียน “โตไปไม่โกง” ไปใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ รวม 40 ชั่วโมง/ปีการศึกษา

วันนี้ (21 เม.ย.58) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 3/2558 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม ในเวลา 12.30 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานกรรมการ คตร. ประธาน/ผู้แทนคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ 4 ด้าน และนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมกันแถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญว่า ที่ประชุม คตช. รับทราบและเห็นชอบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและข้อเสนอของคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ทั้ง 4 ด้านได้ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ที่นำเสนอสองยุทธศาสตร์สร้าง “สำนึกไทย ไม่โกง” ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนผ่านกลไกการศึกษา ด้วยหลักสูตรปลูกจิตสำนึกการต่อต้านทุจริต ที่จะมีการปลูกฝังการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในเด็กและเยาวชน โดยได้เตรียมบรรจุหลักสูตรการเรียน “โตไปไม่โกง” ไปใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ รวม 40 ชั่วโมง/ปีการศึกษา รวมทั้งหลักสูตรให้ข้าราชการท้องถิ่นได้อบรมปลูกจิตสำนึกด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การรณรงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ “สำนึกไทย ไม่โกง” รวม 2 มาตรการ ด้วยการใช้สื่อรณรงค์สร้างกระแส สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจากประชาชน 2) คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต เสนอมาตรการการป้องกันการคอร์รัปชั่นด้วยระบบความโปร่งใสของข้อมูลสาธารณะ ที่มีข้อเสนอให้ 21 หน่วยงานในบัญชี ก.พ.ร. เปิดเผยกระบวนการออกใบอนุญาตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ภายใน 30 วันหลังจากที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการ เพื่อเป็นการนำร่อง ให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูลตามข้อเสนอแนะของ TDRI เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการทุจริต

3) คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปราบปรามการทุจริต มีข้อเสนอแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านการปราบปรามการทุจริต ทั้งยุทธศาสตร์การป้องปราม และยุทธศาสตร์การปราบปราม มีเป้าหมายระบบราชการมีธรรมาภิบาล ปลอดจากการทุจริตประพฤติมิชอบ และดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศไทยดีขึ้น พร้อมกับ เสนอมาตรการแก้ไขการทุจริตในภาครัฐ กรณีพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือเพิกเฉย ให้หัวหน้าส่วนราชการใช้มาตรการทางปกครอง (ย้าย/พักราชการ) และใช้มาตรการทางวินัยดำเนินการทันที ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ใช้คำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 ควบคุม เร่งรัด ติดตามผลการปฏิบัติของทุกส่วนราชการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ใช้ให้มาตรการทางวินัยดำเนินการกับข้าราชการที่เข้าข่ายการทุจริตก่อนถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ใช้มาตรการทางปกครองลงโทษทางวินัย ให้หัวหน้าส่วนราชการดำเนินการทันที หากผู้บังคับบัญชาไม่ดำเนินการจะต้องถูกลงโทษด้วย และ 4) คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ เสนอแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ (1) ผู้นำกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะภัยทุจริตคอร์รัปชั่น (2) สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงภัยของการทุจริตคอร์รัปชั่น (3) ยกระดับการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น (4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่หน่วยงานของรัฐทำกับภาคเอกชนโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เป็นกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบในการทำสัญญาของรัฐ โดยอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการนำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ จำนวน 489 คัน (ขสมก.) อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างครั้งที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (รฟม.) อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินการจัดหาผู้เดินรถ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วผู้สังเกตการณ์จะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้นของการดำเนินการ พร้อมนี้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Committee) ได้เห็นชอบโครงการนำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการเปลี่ยนผ่านการส่งโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ระยะที่สอง 1 ระบบ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ของกรมประชาสัมพันธ์ 2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมทางศุลกากรด้วยระบบเอ็กซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า สัมภาระและหีบห่อสินค้าของผู้เดินทาง รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) วงเงิน 1,318 ล้านบาท ของกรมศุลกากร 3) โครงการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบแห่งใหม่ วงเงิน 7,649 ล้านบาทของโรงงานยาสูบ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้เพิ่มโครงการที่ต้องใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม เพิ่มเติม โดยให้ 20 กระทรวงเสนอโครงการเข้ามาด้วย

นอกจากนี้ มีข้อเสนอในการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกโครงการเพื่อความโปร่งใสในการจัดการทรัพยากร กับ Extractive Industries Transparency Initiative : EITI ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยสมาชิกพัฒนาระบบของความโปร่งใสเกี่ยวกับการจัดการรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ให้การเข้าไปจัดการทรัพยากรทั้งน้ำมัน ปิโตรเลียม ป่าไม้ เหมืองแร่ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมาตรฐานสากล โดยขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิก จะต้องทำข้อมูล สร้างความรับรู้ให้ประชาชน ดำเนินการตามหัวข้อที่ภาคีกำหนด ก่อนที่ภาคีจะนำไปพิจารณาให้เข้าเป็นสมาชิก โดยกระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ