กระทรวงวิทย์ฯร่วมแก้วิกฤติชาวสวนยางคิกออฟขายสารสกัดยางพาราสู่ตลาดเครื่องสำอาง

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2015 16:05 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทย์ฯร่วมแก้วิกฤติชาวสวนยางคิกออฟขายสารสกัดยางพาราสู่ตลาดเครื่องสำอาง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนุนใช้นวัตกรรมเพื่อความงามชุบชีวิตเกษตรกรสวนยาง TCELS เปิดราคาขายสารสกัดยางพาราครั้งแรกกับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs มั่นใจแชร์ส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางในอาเซียนได้หลังจดสิทธิบัตรแล้ว 4 ประเทศ “ดร.พิเชฐ” ชี้ ทางรอดวิกฤติยางพาราคือการแปรรูป

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนจากการสำรวจล่าสุดมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศราว 22 ล้านไร่ มากเป็นอันดับสองรองจากประเทศอินโดนีเซีย แต่มูลค่าส่งออกของไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราได้ลดลงอย่างแต่เนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการพยุงราคาเพื่อรักษาเสถียรภาพแล้วก็ตาม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำยางพาราที่นำไปแปรรูปมีเพียงร้อยละ 12 หรือประมาณ 5 แสนตัน ในขณะที่ ผลผลิตน้ำยางมีมากถึง 4.2 ล้านตัน ทำให้เกิดปัญหายางล้นตลาด

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายร่วมแก้วิกฤติยางพาราด้วยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในการแปรรูปยางพารา และขณะนี้มีงานวิจัยหลายโครงการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเซรั่มน้ำยางพาราเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอางมูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร หลังจากได้ศึกษาแล้วพบว่า เซรั่มซึ่งเป็นส่วนใสของน้ำยางพารานั้นมีสารสกัด Hbสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีเอกลักษณ์ผ่านการพิสูจน์ว่าไม่ก่ออาการระคายเคือง ตลอดจนได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครภายใต้ระบบมาตรฐานสากลและได้รับการตอบรับจากการทดลองจำหน่ายในท้องตลาดเป็นอย่างดี

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การเปิดตัวขายสารสกัดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างนวัตกรรมแปรรูปสารสกัดยางพารา มาเป็นนวัตกรรมความงามเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ การเชื่อมรอยต่อนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ผลผลิตจากสวนยางในเส้นทางที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลงานนี้ได้บรรจุอยู่ในบัญชีนวัตกรรมแล้ว

ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการTCELSกล่าวว่า TCELS ได้ทำการศึกษาประเมินมูลค่าสารสกัดยางพาราซึ่งจากการสืบค้นไม่พบการจำหน่ายและราคาจำหน่ายสารสกัด Hb ที่สกัดจากยางพาราในระดับนานาชาติมาก่อนการประมาณราคาขายจึงได้จากต้นทุนการผลิต และเทียบกับราคาสารสกัดเครื่องสำอางจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอื่นๆในท้องตลาด โดยสารสกัด Hb นี้ มีจุดเด่นที่แตกต่างคือ มีองค์ประกอบของสารที่มีคุณค่าต่อผิวพรรณมากมายนับสิบชนิด ผลที่ได้จึงไม่เพียงช่วยให้หน้าใส ฟื้นฟูสภาพผิวจากริ้วรอยฝ้า ตลอดจนลดความมันและการอักเสบของสิวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดเรือนริ้วรอยอย่างเห็นได้ชัดด้วย สำหรับราคาที่จะจำหน่ายนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 45,000บาท โดยขณะนี้มีบริษัทที่ใช้สารสกัด Hb จำนวน 1 บริษัท อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 1 บริษัท

“ประเทศไทยมียอดขายเครื่องสำอางในประเทศสูงถึง 120,000 ล้านบาท และยังครองตลาดเครื่องสำอางของกลุ่มประเทศอาเซียนในลำดับต้น ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเป็นทางเลือกให้บริษัทภายในประเทศนำสารสกัด Hb นี้ไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและปั้นแบรนด์ของตัวเองได้หลากหลาย นับเป็นการชุบชีวิตยางพาราไทย ด้วยนวัตกรรมใหม่เพื่อความงาม ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างครบวงจรอีกด้วย” ผอ.TCELS กล่าว

ดร.นเรศ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว ทางโครงการจะรับซื้อน้ำยางสดในราคาที่สูงกว่าราคาในท้องตลาด 10% เพื่อนำมาใช้ผลิตสารสกัดโดยสัดส่วนการใช้น้ำยางสด 300 ลิตร ผลิตสารสกัดได้ 1.44 กิโลกรัมและเพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของเอกชน และกลุ่ม SMEs รวมถึงตลาดต่างประเทศในอนาคต จำเป็นต้องขยายฐานการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับความต้องการ TCELS จึงมีโครงการที่จะสนับสนุนให้เกิดโรงงานผลิตสารสกัดใน 2 ระดับ คือโรงงาน SME ที่อยู่ใกล้สวนยางพารา สำหรับผลิตเครื่องสำอาง และโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP/PICs ทั้งนี้ ในระยะต่อไป TCELS ได้จัดเตรียมแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะกระจายการผลิตลงสู่ท้องถิ่นซึ่งมีการปลูกยางพาราในภูมิภาคต่างๆทั้ง 4 ภาค เพื่อทันต่อความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ดร.นเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ TCELS ได้จดสิทธิบัตรแล้วใน 4 ประเทศคือ ไทยสิงคโปร์ จีน และอินโดนีเซีย และกำลังรอรับสิทธิบัตรจาก อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีโอกาสในท้องตลาดสูงทั้งนี้ นอกเหนือจากการผลิตสารสกัด Hb เพื่อผิวพรรณแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มีมูลค่าและความต้องการในตลาดสูงอีกมากมายหลายชนิดสำหรับผลิตภัณฑ์ถัดไปซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ คาดว่าจะสามารถเปิดตัวออกสู่ตลาดได้ในเร็วๆนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผมและหนังศรีษะ

ข้อมูลข่าว :ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ นายรัฐพล , นายไววิทย์ ยอดประสิทธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ