นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ชูใช้นวัตกรรมไทยขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2015 13:27 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ครั้งที่ 2/58 ชูใช้นวัตกรรมไทยขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตั้งเป้าสร้างความเข้มแข็ง SME ด้วยเทคโนโลยีไทย 13,000 ราย ดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เตรียมจัดตั้งกองทุนภาครัฐเพื่อการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

วันนี้ (11 พ.ค.58) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ครั้งที่ 2/2558 โดยมีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายและมาตรการสำคัญในการนำพาประเทศสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย และใช้ตลาดภาครัฐนำร่องเป็นฐานลูกค้าสำคัญให้เอกชนที่คิดค้นและผลิตสินค้านวัตกรรม พร้อมกับเห็นชอบให้ใช้ตลาดภาครัฐนำร่องเปิดตลาดให้กับสินค้าหรือบริการนวัตกรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยใช้สินค้าไทยที่มีคุณภาพเทียบเคียงต่างประเทศ ผ่านการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย (ดูรายละเอียดที่ www.innovation.go.th) โดยให้ภาครัฐจัดซื้อสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ได้รับสำหรับจัดซื้อหรือจัดหาสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยวิธีกรณีพิเศษ และให้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้ไม่เกิน 8 ปี เพื่อให้เอกชนไทยมีตลาดรองรับและเริ่มแข่งขันได้ ทั้งนี้ สินค้าหรือบริการนวัตกรรมใดที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ให้เร่งขอรับรองมาตรฐานเพื่อขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย สำหรับกรณีนวัตกรรมไทยที่ผลิตโดยหน่วยงานรัฐ อาจผ่านหรือยังไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน หรือยังไม่มีภาคเอกชนรับไปผลิต ให้ขึ้นเป็นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีนั้น ๆ สามารถยื่นเสนอของบประมาณภายใต้โครงการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมโดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ของสำนักงบประมาณได้

โดยแนวทางสำคัญประการหนึ่งในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานนวัตกรรมไทย คือ การจัดมหกรรมนวัตกรรมไทยในส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และนำผลงานนวัตกรรมไทยที่หน่วยงานต่าง ๆ ยื่นเสนอขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย มาจัดแสดงในส่วนภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้าถึงหรือเลือกใช้นวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย เพื่อนำไปสู่โอกาสการลงทุนสร้างธุรกิจใหม่ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเอง และพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมอบหมายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการจัดมหกรรมนวัตกรรมไทยภายในปี 2558 จำนวน 3 แห่ง คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์แพร่ข่าวให้คนไทย ได้รู้จักผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมไทย พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยมีความภูมิใจที่จะอุดหนุนสินค้าไทย เพื่อทำให้คนไทยมีงานทำ และทำให้เศรษฐกิจเติบโต ดังเช่นประเทศเพื่อนบ้านของเราและประเทศจีนที่นิยมสินค้าคุณภาพจากประเทศไทย

ในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งของ SME ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ SME ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้นั้น คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ขยายผลโครงการที่ปรึกษาเทคโนโลยีนวัตกรรม (Innovative Technology Development Program : ITAP) ที่ช่วยผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคให้พร้อมใช้งานจริง โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีรวม 13,000 ราย ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 1 ใน 3 หรือราว 5,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน คาดว่าจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพิ่มกำไร ลดต้นทุน เพิ่มการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน ประมาณ 90,000ล้านบาท ภายใน 6 ปี

สำหรับภาคเอกชนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิต หรือธุรกิจฐานเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนที่ลงทุนในธุรกิจฐานเทคโนโลยีแบบเงินร่วมลงทุน คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและกำไรจากการขายหุ้นให้แก่ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Private Equity) ที่ลงทุนในธุรกิจฐานเทคโนโลยี และเพื่อสร้างบรรยากาศให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนเป็นกลไกสนับสนุนธุรกิจฐาน วทน. ต่อไป คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งกองทุนที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุนในลักษณะ Fund of funds โดยกองทุนนี้จะไม่ลงทุนโดยตรงในธุรกิจฐาน วทน. แต่จะลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุน/ทรัสต์ภาคเอกชน หรือกองทุนร่วมลงทุนที่จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงของภาคเอกชนและเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจที่เกิดจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก โดยมีเป้าหมายให้มีต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในประเทศภายในปี 2558 ผ่านการจัดแข่งขันผลิตรถโดยสารไฟฟ้าขึ้น เพื่อคัดเลือกเอกชนที่สามารถผลิตต้นแบบรถโดยสารที่ภาครัฐต้องการขึ้นภายในปี 2558 โดยผู้ชนะจะได้ตลาดภาครัฐประมาณ 500 คัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ตลาดของภาครัฐที่เหมาะสม คือ รัฐวิสาหกิจ ที่มีการขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งควรลดมลพิษโดยเปลี่ยนเป็นรถบัสไฟฟ้าโดยเร็ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาเงื่อนไขการจัดซื้อรถบัสใหม่ให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) โดยหากมีการจัดซื้อ ควรเป็นงบประมาณซื้อรถบัสไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ พร้อมจัดตั้งสถานีประจุไฟ หรือสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะกำหนดขึ้น รวมทั้งจัดงบประมาณพิเศษ เพื่อเร่งรัดการวิจัยและสร้างรถต้นแบบขึ้นทดลองใช้งานจำนวนหนึ่งด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คุณดารารัตน์ : โทร. 0 2564 7000 ต่อ 71856) ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สวทช. (คุณลัญจนา : โทร. 0 2564 7000 ต่อ 71825) Email : nis@nstda.or.th, info@nstda.or.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ