กสอ. ร่วมกับ ISMED รุกสร้างดีไซน์เนอร์สายพันธุ์ใหม่ ดึงดีมานด์ภาคการผลิต AEC พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางภาคการผลิตสินค้าแฟชั่นในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2015 11:18 —สำนักโฆษก

กสอ. เปิดตัว 4 เทรนด์ธีมอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ปี 2016 หวังสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการผลิต

กรุงเทพฯ 6 พฤษภาคม 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สพว.) หรือ ISMED ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางภาคการผลิตสินค้าแฟชั่นในอาเซียน โหมต่อยอดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย รุกสร้างดีไซเนอร์คุณภาพสากลสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เปิดตัวโครงการการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย มุ่งเน้นแนวคิดนวัตกรรมแฟชั่น (Innofashion) เพื่อพัฒนาดีไซเนอร์ หรือนักออกแบบไทย ให้สามารถพัฒนาสินค้าแฟชั่นสอดคล้องกับความพร้อมการตลาดโลก โดยโครงการมุ่งเน้นพัฒนาในหลากหลายกลุ่ม อาทิ นักออกแบบที่เป็นเจ้าของกิจการมีตลาดเป็นของตนเองแล้ว นักออกแบบหน้าใหม่ที่เริ่มทำการตลาดแต่สินค้ามีเอกลักษณ์ โดดเด่น ตลอดจนนักศึกษารุ่นใหม่ พร้อมเปิดตัว 4 ธีมแฟชั่นในปี 2559 อันสอดคล้องกับเทรนของโลกแต่มีการสอดแทรกความเป็นอาเซียนและประเทศไทยลงไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ากว่า 20-30% ได้แก่ ทรอปิคอล อาร์ติแซน (Tropical Artisan) ความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบผสมกับงานคราฟ์ทำมือ สนุกสนาน (Snook Snan) แฟชั่นลำลองกับสีสันฉูดฉาด และกราฟิกต่างๆ บนตัวผ้าสะท้อน สตรีทสไตล์ อินโดจีน (Indochina) ความหลากหลายของอารยะธรรมชนเผ่าไทยในคาบสมุทรอินโดจีน เจนเดอร์ฟิวเจอร์ริซึ่ม (Gender Futurism) รูปแบบความเรียบง่ายด้วยแนวคิดที่ทันสมัย ทั้งนี้ กสอ. และ ISMED ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0 2367 8296, 0 2367 8290 หรือติดตามโครงการอื่นๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่มีการเติบโต และมีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยในปี 2557 อุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกได้สูงกว่า 6.2 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานรวมกว่า 2.2 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 1) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.16 แสนล้านบาท 2) อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า 5.76 หมื่นล้านบาท 3) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 3.23 แสนล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเป็นอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเริ่มมีคู่แข่งจากประเทศจีน อินเดียและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนซึ่งมีค่าแรงต่ำกว่าไทย ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างเอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำ ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากลได้ และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำโครงการ“พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” ประจำปี 2558 ขึ้น คาดว่าจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ให้เป็นศูนย์กลางของแฟชั่นในภูมิภาคอาเซียนในปี 2560

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบันมีนักออกแบบแฟชั่น หรือ ดีไซเนอร์รุ่นเยาว์เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนนักออกแบบฝีมือดี ที่สามารถเข้าใจแนวโน้มตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ตามใจผู้ซื้อมากกว่าผู้ขายอย่างแท้จริง ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) หรือ ISMED ดำเนินกิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015) ที่มุ่งเน้นการพัฒนานักออกแบบสายพันธ์ใหม่ที่มีองค์ความรู้ด้าน “นวัตกรรมแฟชั่น” (Innofashion) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Innovation) และการออกแบบแฟชั่น (Fashion) โดยประกอบด้วย นวัตกรรมด้านการออกแบบ (Innodesign) การสร้างสรรค์สไตล์หรือรูปแบบใหม่ๆ ของสินค้า นวัตกรรมด้านวัสดุ (Innomaterials) การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่าง ล้ำสมัย แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับความเป็นไทย นวัตกรรมด้านเทคนิคหรือการผลิต(Innotechnics) การนำเสนอกระบวนการ วิธีการหรือทักษะฝีมือการผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นวัตกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Innoconcept) นำเสนอแนวคิดที่แปลกใหม่ โดยตั้งเป้านำร่องพัฒนานักออกแบบในปี 2558 จำนวนกว่า 200 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้ง 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศได้จำนวนมาก ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ในการสร้างจุดขายให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยผ่านจุดแข็งที่มีบุคคลากรภาคการผลิตที่ทันสมัย โดยตั้งเป้าหมายในอนาคตให้กลุ่มนักออกแบบดังกล่าวสามารถดึงความต้องการในวัตถุดิบและสินค้าแฟชั่นไทย จากประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภาคการผลิตสินค้าแฟชั่น

ด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า กิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย หรือ Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015) ดังกล่าวจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอีกกลไกหนึ่ง และตั้งเป้าพัฒนานักออกแบบในหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มนักออกแบบที่เป็นเจ้าของกิจการที่มีตลาดเป็นของตนเองแล้ว แต่อยากพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น หรือกลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ที่เริ่มทำการตลาด ด้วยสินค้าที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น ผ่านการถ่ายทอดวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากอุตสาหกรรมแฟชั่นสาขาต่างๆ อาทิ ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์แฟชั่น นายชาตรี เท่งฮะ ผู้ก่อตั้งเจ้าของและนักออกแบบแบรนด์ชากะ (Shaka)

นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ ธีระ (T-Ra) เป็นต้น มาเป็นที่ปรึกษาให้คำปรึกษาแนะนำตั้งแต่การค้นคว้าหาความโดดเด่น ความแตกต่างของแนวทางการออกแบบเฉพาะตัวบุคคล การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สู่งานออกแบบที่พร้อมทั้งรูปแบบประโยชน์ใช้สอย ตอบโจทย์ธีมการออกแบบ ที่กำหนดไว้ทั้ง 4 ธีม ด้วยองค์ความรู้นวัตกรรมแฟชั่น (Innofashion) และสอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่นจนไปสู่การผลักดันให้เกิดชิ้นงานต้นแบบที่มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะได้รับการเผยแพร่บน Runnway Fashion ระดับประเทศและนิตยสารด้านการออกแบบแฟชั่นชั้นนำ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่เป้าหมายศูนย์กลางแฟชั่น AEC ในปี 2560

นายสุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ผลสัมฤทธิ์เบื้องต้นจากโครงการฯ ได้พัฒนา 4 ธีมแฟชั่นสอดคล้องกับฤดูกาล สปริง ซัมเมอร์ 2016 (Spring Summer2016) โดยได้คัดเลือกนักออกแบบเข้ารับการอบรมก่อนจะกำหนดให้นักออกแบบในโครงการฯ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยได้เห็นเป็นแนวทาง โดยคาดว่าจาก ธีมแฟชั่นดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในกว่า 20-30% โดยรายละเอียดแนวคิดของ ธีมแฟชั่นทั้ง 4 แบบ ได้แก่

ทรอปิคอล อาร์ติแซน(Tropical Artisan) เสนอความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบที่หลากหลายและแปลกใหม่ผสมกับงานคราฟ์ทำมือ เพื่อตอบสนองอีโคไลฟ์สไตล์ไทย (EcoLifestyle) ของคนยุคปัจจุบัน

สนุกสนาน (Snook Snan) การสะท้อนอุปนิสัยของคนไทยที่สัมผัสได้ถึงความสนุกของสตรีทสไตล์ (Street Style)รวบรวมแฟชั่นลำลองกับสีสันที่ฉูดฉาด และกราฟฟิกต่างๆ บนตัวผ้า

อินโดจีน (Indochine) การนำเสนอความงดงามของผ้าพื้นบ้านที่คงไว้ซึ่งความหลากหลายของอารยะธรรมชนเผ่าไทยในคาบสมุทรอินโดจีนผ่านงานทอ งานปัก งานตกแต่งลายผ้า เป็นต้น

เจนเดอร์ฟิวเจอร์ริซึ่ม (Gender Futurism) สะท้อนศิลปะการปรับตัวของคนไทยที่มีการปรุงแต่งอย่างซับซ้อนแต่อยู่ในรูปแบบความเรียบง่ายด้วยแนวคิดที่ทันสมัยไปพร้อมๆ กัน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110โทรศัพท์ 0 2367 8296, 0 2367 8290 หรือติดตามโครงการอื่นๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ