ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รอง นรม. เป็นประธานการแถลงข่าว โครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) ณ ห้องกมลมาศ โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2015 13:51 —สำนักโฆษก

โครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่าการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศนั้น เป็นเรื่องที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย โดยมีโครงการที่มีความท้าทาย มีการบริหารจัดการชุดโครงการที่ดี และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ทั้งนี้ การท้าทายให้วงการวิจัยไทยแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ที่สำคัญที่เป็นความต้องการของประเทศที่กำหนดไว้ จะส่งผลให้นักวิจัยเกิดความต้องการจะแก้ไขปัญหาที่ยากต่อการแก้ปัญหาด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการแก้ปัญหานั้น จะต้องร่วมแรงร่วมใจทำ รวมทั้งมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่มีการร่วมมือ สร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อสังคมและประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เป็นองค์กรหลักด้านนโยบายของประเทศที่ชี้นำการพัฒนาประเทศโดยใช้การวิจัย โดยเล็งเห็นว่าการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วนั้นจะต้องอาศัยการบริหารจัดการวิจัยที่มีความโดดเด่น ก้าวหน้าทันสมัย สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ผลการวิจัยส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจสูง เป็นการท้าทายให้เกิดงานวิจัยแบบบูรณาการสหสาขาวิชา และเป็นการสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามการกำหนดหัวข้อการวิจัยเพื่อให้สอดรับกับโครงการท้าทายไทย จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ผู้บริหารจากกระทรวงทบวงกรม และมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนั้น วช. ได้ร่วมมือกับเครือข่าย คอบช. จัดการประชุมระดมสมอง “โครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand)” ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมแคนทารีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงและมหาวิทยาลัย ต่างๆ จำนวน ๑๒๓ คน โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้แนวคิดเกี่ยวกับโครงการนี้ นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรยายเกี่ยวกับ “ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” และ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยท้าทายไทยตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.ยงยุทธฯ หลังจากนั้นเป็นการระดมสมอง “แนวคิดโจทย์และเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในโครงการ Grand Challenges Thailand” ซึ่งมีการเสนอโจทย์วิจัยในเบื้องต้นทั้งสิ้น ๓๕ โครงการจาก ๑๕ หน่วยงาน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ กลั่นกรองและผสมผสานระดับหนึ่งแล้วสามารถจำแนก ออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

๑. ด้านอาหารและการเกษตร เช่น การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารไทยในเวทีโลก อาหารเพื่อสุขภาพ การปรับตัวของการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

๒. ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานชีวภาพ การแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนืออย่างยั่งยืน การสร้างมูลค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพ

๓. ด้านคุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในช่วง ๓ ปีแรก (Better child for better Thai) การรองรับสังคมผู้สูงอายุ

๔. ด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสร้างรายได้จากนวัตกรรม การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และแก้ปัญหาคอรัปชั่นในการบริหารราชการตามระบบคุณธรรม การพัฒนาบทบาทเศรษฐกิจไทยในประชาคมอาเซียน การพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

๕. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย คนไทยสุขภาพดีจากโภชนาการและชีวิตที่ดี การป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากพยาธิใบไม้ตับ การตรวจกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งที่สำคัญตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก การพัฒนาการแพทย์เชิงระบบ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการประชุมทำให้เกิดมุมมองและความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการท้าทายไทย ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ประเด็นการวิจัยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่ง คอบช. จะร่วมพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป

การดำเนินงานโครงการท้าทายไทย จะเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรบริหารงานวิจัยหลักของประเทศ และร่วมมือกับเครือข่าย Grand Challenges ในระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นประเด็นที่มีความสำคัญมากต่อประเทศไทยและแสดงบทบาทของประเทศไทยในประเด็นปัญหาที่สำคัญในระดับนานาชาติด้วย โดยขณะนี้ได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการแล้วสำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๙ แต่ วช. และ คอบช. จะร่วมมือกันเร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการอย่างรวดเร็วในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ นี้

ทั้งนี้ นางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นเกียรติในงานครั้งนี้ด้วย

เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3727-3732 โทรสาร 02 333 3834 E-Mail : pr@most.go.th facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ