รองโฆษกรัฐบาลระบุ ครม.และคสช.เน้นย้ำเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 19, 2015 11:21 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19 พ.ค.58) เวลา 15.20 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

วันที่ที่ประชุมฯ ได้มีการทบทวนเป้าหมายร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ทั้งสองส่วนได้ตระหนักถถึงภาระหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เพื่อนำไปสู่เจตนารมณ์ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายร่วมกันดังกล่าวประกอบด้วย 1) การรักษาความมั่นคงภายใน โดยคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะต้องร่วมกันดำเนินการทุกวิถีทางให้เกิดความมั่นคงภายในประเทศ พยายามที่จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย 2) การทำงานตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการบริหารงานของแผ่นดินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 3) การวางแผนงานปฏิรูปประเทศในอนาคต ซึ่งถือว่าเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินขณะนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการปฏิรูป เพราะฉะนั้นจึงขอให้มีการติดต่อประสานงานกันระหว่างส่วนที่ต้องติดต่อประสานงานในส่วนรัฐบาลกับสภาปฏิรูปเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ4) การแก้ไขกฎหมายที่ยังติดขัดและเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราช รวมทั้งกฎหมายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องดำเนินการผลักดันออกมาให้ได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายในช่วงที่ผ่านมาสรุปว่า ปัจจุบันนี้ทั้งในส่วนของรัฐบาลและคสช. ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือกฎหมายเข้าไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วทั้งสิ้น จำนวน 110 ฉบับ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาฯ ไปแล้วจำนวน 84 ฉบับ โดยมีทั้งที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งรอระยะเวลาที่จะมีผลบังคับใช้และอยู่ในระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ยังคงค้างอยู่ในสภาฯ ประมาณ 26 ฉบับ ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะผลักดันกฎหมายให้เป็นไปตามนโยบายที่เคยแถลงไว้ รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองด้วย ตลอดจนเร่งรัดพันธะกรณีต่าง ๆ ที่มีระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายสำคัญในอดีตที่รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาไม่กล้าที่ผลักดัน แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลสมัยชุดปัจจุบันเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ได้ก็พยายามที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวออกไป

พร้อมทั้ง ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีเรื่องมาตรา 44 ต่อที่ประชุมฯ ได้รับทราบร่วมกันว่า ที่ผ่านมามาตรา 44 ความจริงมีอำนาจสั่งการได้ตามข้อที่เกี่ยวกับเรื่องนิติบัญญัติ เรื่องบริหาร และเรื่องตุลาการ อย่างไรก็ตามปัจจุบันที่ได้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น ยังไม่เคยมีฉบับใดที่ไปดำเนินการในลักษณะของอำนาจทางตุลาการ มีแต่ดำเนินการในเรื่องของนิติบัญญัติและการบริหาร เช่น การแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและใช้ระยะเวลาสั้นลงจากเดิมที่การแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน อาทิ การดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการประเมินการบินของ ICAO การต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU เป็นต้น ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในด้านบริหาร อาทิ ได้มีการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ และมีการโยกย้ายในบางส่วนเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเหมาะสม ทั้งนี้ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทางด้านตุลาการที่จะไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูกบุคคลใด เพราะทุกเรื่องที่จะมีการชี้ผิดชี้ถูกจะต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติเท่านั้น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ