เด็กไทยเจ๋งคว้ารางวัลชนะเลิศ “โครงงานวิทย์ฯ” ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2015 14:44 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท อินเทลไมโครอิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) จำกัด จัดแถลงข่าวแสดงความยินดีกับนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินเทล ไอเซฟ 2015 ครั้งที่ 66 ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย และ ไอสวีป 2015 ครั้งที่ 8 ณ เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเด็กไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศและรางวัลชมเชย หลายรางวัล

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2558) เวลา 13.30 น. ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ : ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทคนายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช. และนางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความยินดีกับนักเรียนไทยที่เข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก โดยมีผลงานโครงการเยาวชนไทยรวม 13 โครงงาน จากการแข่งขันระดับนานาชาติทั้ง 2 เวที

Intel ISEF2015

ประเทศไทยส่งโครงงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 11 โครงงาน มีนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 1,700 คน จาก 75 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมชมผลงานถึงกว่า 3,000 คน

นักเรียนไทยสร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 Grand Award ประเภทสัตวศาสตร์ ผลงาน “การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยผลิตแผ่นใยไหม” พัฒนาโดย น.ส.สุทธิลักษณ์ รักดี นายนัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร และนายธนานนท์ หิรัณย์วาณิชชากร จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากรางวัล First Physical Science Award จาก Sigma Xi, The Scientific Research Society โดยทั้ง 2 รางวัล ได้รับทุนการศึกษารวม 5,000 เหรียญสหรัฐ และยังได้รับเงินรางวัลชนะเลิศประจำสาขาการแข่งขันอีก 3,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมได้รับโอกาสเดินทางไปยังประเทศอิตาลีเพื่อร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์เยาวชน (European Union Contest for Young Scientists) อีกด้วย

นอกจากนี้ โครงงานที่มีชื่อว่า “ผลของสารสกัดหยาบจากหญ้าคาที่มีต่ออัตราการรอดชีวิตและอัตราการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและผลกระทบต่อแมลงตัวห้ำไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล” พัฒนาโดยนายวสุ ชวนะสุพิชญ์ นางสาววณิชา โคตรวงศ์ษา และนางสาวณัชมุกดา ไพบูลย์ จาก โรงเรียนสาธิต ม.ขอนแก่น(มอดินแดง) ยังคว้ารางวัลอันดับ 3 ในสาขาพฤกษศาสตร์ รับทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัลพิเศษซึ่งสนับสนุนโดยบริษัทมอนซานโต ส่วนโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ก็ทำผลงานได้โดดเด่นเช่นกันโดยมีนักเรียนถึงสองทีมที่คว้ารางวัลอันดับ3 ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐมาได้สำเร็จจาก 2 ผลงานคือ “บรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากเซลลูโลสในดอกบัว” พัฒนา โดย นายธีรพัฒน์ มาน้อย นายยุทธศาสตร์ สอนประสม และนายฤทธิกุล ธรฤทธิ์ และ ผลงาน “การดัดแปลงโครงสร้าง NANO MEMBRANE COMPACT จากคาร์บอนโพรงเซลลูโลสที่ติดด้วยเม็ดสีคอมโพสิตกับ TiO2” พัฒนาโดยนายปัณณวัฒน์ เพียรจัด และนางสาวอรวรรณ ทัศนเบญจกุล ขณะเดียวกัน โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย นอกจากจะสร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศแล้ว ยัง ได้รับรางวัลอันดับ 4 จากผลงาน “การพัฒนาสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝาก” ของนายวัฒนะ ทำของดี รับทุนการศึกษามูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ ในสาขาพฤกษศาสตร์

I-SWEEEP 2015

ประเทศไทยส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 4 โครงงาน ในสาขา การจัดการสิ่งแวดล้อม เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัล 3 เหรียญทองแดงจากโครงงาน

โครงงานการศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ของลักษณะการเคลื่อนที่ และการเปลี่ยนแปลงปริมาตรฟองอากาศเพื่อการพัฒนาแอพพลิเคชั่นตรวจคุณภาพน้ำ โดยใช้กล้องของอุปกรณ์พกพา จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดยนายบุณยกร อัศวนิเวศน์ และนายกฤต กรวยกิตานนท์

โครงงานหมวกกันน็อคสำหรับจักรยานรักษ์สิ่งแวดล้อม จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โดยนายจักรพันธ์ กางกรณ์ นายพชรพล อภินันทชาติ และน.ส.ณัฐชยา แบนเพชร

โครงงานโปรแกรม WAM สำหรับวิเคราะห์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อลดผลกระทบจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างยั่งยืน จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดย นายปริตต์ วงศ์ตระกูล และนายภิวัต จงเจริญและรางวัลชมเชย 1 โครงงาน ได้แก่ โครงงานกระดาษซับน้ำมันทนไฟจากเส้นใยดอกธูปฤาษี จากโรงเรียนพระบางวิทยา โดย นางสาวสุวิมล ส่งศรีจันทร์ นางสาวเจนจิรา โตม่วง และนางสาวสุวนันท์ มานิ่ม

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมเด็กและเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัลในระดับนานาชาติในครั้งนี้ รวมถึงเด็กที่เข้าร่วมแข่งขันทุกคน เพราะน้องๆ กลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชน มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กิจกรรม ในหลายๆ ส่วน เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถของเยาวชนไทยให้สามารถพัฒนาผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นการสั่งสมและบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ สังคมไทยควรตระหนักถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้มากขึ้น และจะต้องเป็นสังคมที่สร้างนวัตกรรม ทั้งนี้เราจะหน้าที่เป็นตัวแทนเปิดเวทีการแข่งขันการประกวดให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้แสดงความสามารถเพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมนวัตกรรม

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การพัฒนาต่อยอดเยาวชนที่มีผลงานผ่านเข้าประกวดรอบชิงชนะเลิศโครงการ Young Scientist Compettion (YSC) ทางเนคเทค/สวทช. ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการรับเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาโดยการรับตรงของมหาวิทยาลัยเครือข่าย และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด มีสิทธิ์ได้รับโควต้า เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 10 แห่งที่อยู่ในเครือข่ายของโครงการ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น หรือแม้แต่การได้มีโอกาสเข้ารับทุนสนับสนุนการศึกษาต่อหรือทำวิจัยในโครงการของ สวทช. เช่น โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (Young Scientist and Technology Program : YSTP) โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) รวมถึงการได้รับทุนการศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

ข้อมูลโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์องค์กร

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โทร. 02-564-7000,089-128-5004,081-668-1064,081-247-2476

อีเมลล์ pr@nstda.or.th.

เผยแพร่โดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายรัฐพล หงสไกร , นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ