ก.ไอซีที หนุนกรมอุตุฯ รวมพลัง 3 หน่วยงานร่วมมือจัดการข้อมูลด้านแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Tuesday May 26, 2015 14:58 —สำนักโฆษก

กระทรวงไอซีที โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ผนึกกำลังกรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือด้านแผ่นดินไหว บูรณาการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการดำเนินงานด้านแผ่นดินไหว ระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีที กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่จะเผยแพร่ออกไปมีความเป็นเอกภาพหรือเป็นหนึ่งเดียว จึงได้มีการหารือระหว่าง 4 หน่วยงานในการบูรณาการข้อมูลแผ่นดินไหวของประเทศไทยให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน โดยจะร่วมมือกันในการจัดการข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจความร่วมมือการดำเนินงานด้านแผ่นดินไหว จัดทำขึ้นเพื่อความร่วมมือในการจัดการข้อมูล ทั้งในเชิงวิชาการ การปฏิบัติการ และการบูรณาการข้อมูลของเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 หน่วยงาน รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลแผ่นดินไหวและข้อมูลสารสนเทศด้านแผ่นดินไหวที่มีความถูกต้องสมบูรณ์ สามารถติดตามการเกิดแผ่นดินไหวและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลอย่างสูงสุด อย่างไรก็ตาม นอกจากการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันแล้ว ควรมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องว่า แผ่นดินไหวขนาดเท่าไรจะส่งผลเสียและผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ปัจจุบันประเทศไทยมีอาคารสูงเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแผนบูรณาการด้านการเคลื่อนย้าย เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชนกรณีเกิดแผ่นดินไหว” นายพรชัยฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาจะเป็นหน่วยงานหลักในการคำนวณค่าต่างๆ ด้านแผ่นดินไหวของประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์กลาง ขนาด ความลึก วันเวลา สถานที่เกิดแผ่นดินไหว ก่อนให้หน่วยงานอื่นนำข้อมูลสื่อสารสู่ประชาชนต่อไป ส่วนกรมทรัพยากรธรณีจะรายงานชื่อรอยเลื่อนมีพลังที่เป็นสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวนั้นๆ ในขณะที่กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะรายงานค่าอัตราเร่งของพื้นดินที่เกิดขึ้นในบริเวณเขื่อนที่รับผิดชอบ ซึ่งการทำบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครอบคลุมครบทุกมิติ ป้องกันความสับสน และมีความเป็นเอกภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ