การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 3/2558

ข่าวทั่วไป Thursday June 4, 2015 16:35 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ

นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยผลการประชุม สรุปดังนี้

เห็นชอบร่างประกาศฯ การกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ

ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ พ.ศ. .... เนื่องจากประกาศเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2557 นั้น ได้ให้การกู้ยืมเงินเฉพาะด้านการก่อสร้างหรือการซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนตามหลักสูตรเท่านั้น แต่ร่างประกาศฉบับใหม่นี้จะเป็นช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเป็นอย่างมาก โดยสามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนได้ อันจะส่งผลให้โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การปรับปรุงร่างประกาศดังกล่าวก็เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการบริหารกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ พ.ศ.2556 อีกด้วย

สำหรับคุณสมบัติของโรงเรียนที่มีสิทธิ์กู้ยืม ต้องเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบที่เปิดทำการสอนไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีจำนวนนักเรียนในแต่ระดับชั้น คือ เปิดสอนระดับชั้นก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. อย่างใดอย่างหนึ่งเพียง 1 ระดับ ไม่ต่ำกว่า 120 คน หรือหากเปิดสอนตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไป ต้องมีจำนวนนักเรียนไม่ต่ำกว่า 180 คน

คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยมีหลักประกันการกู้ยืมเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือที่ดินของผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกัน หรือหากเป็นสิ่งปลูกสร้างของโรงเรียน ต้องมีราคาประเมินที่ดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของวงเงินที่ขอกู้ยืมเงิน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ พ.ศ. .... ซึ่งมีหลักเกณฑ์เดียวกัน เพียงแต่เป็นเงินยืมปลอดดอกเบี้ยสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เปิดสอนวิชาศาสนาควบคู่วิชาสามัญที่แปรสภาพมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะ) และได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลใน 14 จังหวัดภาคใต้

เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงฯ ช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล

ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. .... เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น เนื่องจากระเบียบเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว โดยมีประเด็นสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข ดังนี้

  • ปรับปรุงให้มีวิธีการสำหรับการยื่นคำร้องขอรับเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนใหม่ เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 ของโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษา
  • ปรับปรุงเอกสารประกอบการขอรับเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยยกเลิกการแนบบัญชีการจ่ายเงินเดือนครูและหักเงินสมทบ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2554 สำนักงานฯ ไม่ได้หักเงินสมทบครูจากเงินอุดหนุนรายบุคคลในแต่ละเดือนนำส่งให้กับกองทุนสงเคราะห์แล้ว
  • ปรับปรุงโดยเพิ่มคุณสมบัตินักเรียนที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ต้องมีเลขประจำตัวประชาชนที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย และการกำหนดอายุสูงสุดของนักเรียนที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนรายบุคคล (กำหนดอายุสูงสุดไม่เกิน 25 ปี) ซึ่งจากเดิมไม่มีการระบุไว้
  • ปรับปรุงคำนิยามโรงเรียนการกุศลให้สอดคล้องกับประกาศประเภทโรงเรียน และเพิ่มนิยามสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ
  • เพิ่มเติมในส่วนคุณสมบัติของนักเรียนใหม่เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 ของโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษาต้องเป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  • เพิ่มเงื่อนไขสำหรับโรงเรียนที่เบิกจ่ายเงินอุดหนุนประจำเดือนไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้โรงเรียนดำเนินการขอเบิกจ่ายให้ทันภายในปีงบประมาณที่ยื่นคำร้อง เพื่อให้โรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบให้ถูกต้อง และสำนักงานฯ สามารถวางแผนในการเบิกจ่ายเงินตอนสิ้นปีงบประมาณและมีข้อมูลเพื่อของบประมาณเพิ่มเติมกรณีงบประมาณไม่เพียงพอ
  • เพิ่มเงื่อนไขให้โรงเรียนตั้งใหม่หรือโรงเรียนที่เข้ารับอุดหนุนครั้งแรกได้รับเงินอุดหนุนเดือนแรก ตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษาที่ยื่นคำร้องขอรับเงินอุดหนุน เพื่อเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมระเบียบฯ ไม่ได้ระบุไว้
  • เพิ่มเงื่อนไขกรณีที่โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงรายการในตราสาร หรือใบอนุญาตที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนนักเรียนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน ภายหลังวันที่ 30 มิถุนายน ให้คำนวณจำนวนนักเรียนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงได้ในปีการศึกษาถัดไป
  • ปรับปรุงการกำกับดูแลกรณีเบิกเงินอุดหนุนผิดพลาด โดยโรงเรียนต้องคืนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และกำชับให้โรงเรียนรักษาวินัยทางการเงิน ปฏิบัติตามระเบียบให้ถูกต้อง และมีการคืนเงินตามกำหนดเวลา
  • ปรับปรุงการกำกับดูแลกรณีมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนผิดพลาดและเงื่อนไขการเรียกเงินคืน โดยนำข้อความในระเบียบฉบับที่ 4 ที่ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มากำหนดไว้ในร่างระเบียบฯ นี้
  • เพิ่มมาตรการกรณีโรงเรียนไม่นำเงินอุดหนุนที่ได้รับไปใช้จ่ายตามเงื่อนไข เช่น จ่ายเงินเดือนครูไม่เต็มตามวุฒิ ให้ผู้อนุญาตสั่งแก้ไข หากไม่ดำเนินการให้ผู้อนุญาตสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550
  • เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เนื่องจากโรงเรียนอาชีวศึกษาปัจจุบันได้จัดการเรียนการสอนในประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ยังไม่มีอัตราเงินอุดหนุนของประเภทวิชาดังกล่าวในตารางอัตราเงินอุดหนุนแนบท้ายระเบียบ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับประเภทวิชาอุตสาหกรรม
  • เพิ่มอัตราอุดหนุนรายบุคคลระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนการกุศลและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามของมัสยิดหรือมูลนิธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558

เห็นชอบร่างประกาศฯ ช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา

ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา พ.ศ. .... เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง ให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะได้เต็มศักยภาพ ฝึกประสบการณ์อาชีพได้อย่างเต็มที่ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร อีกทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพและการยกระดับคุณภาพมาตรฐานอาชีวศึกษาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ ทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและการบริการเพิ่มขึ้น และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ได้อุดหนุนอัตราค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนเฉพาะอาชีพใน 9 ประเภทวิชา โดยประเภทวิชาอุตสาหกรรมได้รับมากที่สุด คือ 2,000 บาท/คน/ปี รองลงมาคือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1,800 บาท/คน/ปี เกษตรกรรม 1,600 บาท/คน/ปี ส่วนคหกรรม-ประมง-อุตสาหกรรมท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมสิ่งทอ 1,200 บาท/คน/ปี และพาณิชยกรรม-ศิลปกรรม 1,000 บาท/คน/ปี

เลขาธิการ กช.กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ประกาศให้ปีการศึกษา 2558 เป็นปีแห่งการพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะการคิด โดยให้โรงเรียนเอกชนทุกระดับทุกประเภทได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดเป็นระบบเหมาะสมตามระดับชั้นและประเภทของการศึกษา และผู้เรียนได้รับการปลูกฝังค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

4/6/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ