การค้ามนุษย์ ต้องแก้ที่ความยากจน “เน้น”บังคับใช้กฎหมายจริงจัง

ข่าวทั่วไป Friday June 5, 2015 16:51 —สำนักโฆษก

นายกฯ ประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ “วันต่อต้านการค้ามนุษย์ 5 มิ.ย.” ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต้องแก้ต้นตอที่ความยากจน ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน ย้ำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ช่วยเหลือเหยื่อด้วยการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ ก่อนกลับสู่สังคม กรรมการหอการค้าแจ้งต่างประเทศชื่นชมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 1.6 ล้านคน เป็นการลดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพิธีเปิด “วันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2558” โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมงานด้วย ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นสาเหตุของการลดความเชื่อมั่นในการลงทุน การค้าและการส่งออกของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อโรงงานและแรงงาน ต่อภาคเศรษฐกิจและกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 โดยกำหนดให้การค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดำเนินการแก้ไขปรับกฎหมายที่ไม่ทันสมัย ในภาคปฏิบัติกวดขันเจ้าหน้าที่ว่าควรปฏิบัติอย่างไร ในการใช้กฎหมายต้องอธิบายสร้างความเข้าใจให้ประชาชน ชี้แจงว่าเป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งกฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้สังคมสงบสุข และต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจนด้วย ด้านผลสัมฤทธิ์ในการดูแลเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ต้องพัฒนาฝึกอาชีพให้ เพื่อนำไปหารายได้ก่อนกลับสู่สังคม ต้องขจัดคนที่ได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ให้ไม่มีที่ยืนบนแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพล ต้องร่วมกันทำงานแบบบูรณาการในหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ตำรวจและทหาร โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพหลัก

ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาของคนทั้งโลก ประเทศไทยต้องพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ปลายทางและองค์กรระหว่างประเทศในการให้ความคุ้มครองมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ต้นตอของปัญหาค้ามนุษย์มาจากความยากจน รายได้ของประชากรที่ไม่ทัดเทียมกัน เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงภาคเศรษฐกิจให้ประเทศยากจนเหล่านั้น ซึ่งประเทศมหาอำนาจต้องยอมรับและเมื่อมีการเจรจาตกลงการค้าจะต้องมีความเป็นธรรมเพราะเป็นประเทศที่มีรายได้น้อย และเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ทำอย่างไรให้ประเทศไทยถูกยอมรับในสินค้าและภาคการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว คือการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทำแรงงานผิดกฎหมายให้เข้าสู่ระบบได้รับการคุ้มครอง สำหรับแรงงานไทยต้องพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นระดับหัวหน้างาน เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมากและมีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมเสวนา “แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความคาดหวังและข้อท้าทายของไทย”โดยเสนอมุมมองภารกิจของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องเชิงป้องกันและขับเคลื่อนให้กฎหมายมีการบังคับใช้โดยเฉพาะการตรวจและคุ้มครองแรงงานที่เจ้าหน้าที่พนักงานตรวจแรงงานของกระทรวงแรงงานต้องดูแลทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทย และมีความจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นายจ้างเจ้าของสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงการดูแลคุ้มครองสิทธิให้แรงงานต่างด้าวซึ่งไม่รู้ภาษาไทย ได้จัดให้มีล่ามช่วยในการสื่อสาร รวมถึงได้จัดทำเอกสารเป็นภาษาของแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เกิดการรับรู้สิทธิที่จำเป็นและขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานได้

นอกจากนี้ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการหอการค้า ด้านอาหารประมงและปศุสัตว์ และนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้กล่าวถึงการไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศแล้วได้รับความชื่นชมในนโยบายจัดระเบียบแรงงานด้าว โดยการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จำนวน 1.6 ล้านคน ว่าเป็นการลดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เป็นมาตรการที่ดีที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงาน และขอให้มีการใช้บังคับกฎหมายอย่างเด็ดขาดในภาคประมงทะเล ในระดับสากลมาตรการบังคับทางกฎหมายที่เรียกว่า "Zero Tolerance" ผู้ประกอบการไม่สามารถจะอ้างว่าขาดแคลนแรงงาน ไม่มีกำไร จึงต้องบังคับใช้แรงงาน หรือใช้แรงงานจากการค้ามนุษย์ ไม่สามารถอ้างเหตุผลใดๆได้

กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ /พุทธชาติ อินทร์สวา-ข่าว/สุนิสา กล่ำฟอง-ภาพ/5 มิถุนายน 2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ