สนช. ทุ่มงบ 500 ล้าน หนุนเอสเอ็มอีไทย จับมือ สอท. สภาหอการค้าฯ เปิดตัวคูปองนวัตกรรม เฟส 2

ข่าวทั่วไป Friday June 12, 2015 17:28 —สำนักโฆษก

วันนี้ 9 มิถุนายน 2558 เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่ 2 พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรม กับการพัฒนา SMEs ไทย” นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นกล่าวรายงานความเปนมาโครงการ รองศาสตราจารย์ ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมพลูแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดตัว “โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่ 2” เพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทยไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” และถือเป็นวาระแห่งชาติที่นำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย ดังนั้น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จึงได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินงานโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทยไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้งบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ”

“การดำเนินงานโครงการคูปองนวัตกรรมฯ ระยะที่ 2 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สนช. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมและสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรมของประเทศสู่การแข่งขันด้านนวัตกรรมในอนาคต อีกทั้ง ยังนำไปสู่การสร้างระบบการพัฒนาผู้ให้บริการงานนวัตกรรม เพื่อช่วยให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมให้สอดคล้องความต้องการของตลาดอย่างยั่งยืน สร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงของการดำเนินโครงการนวัตกรรมด้วยตัวเอง เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโครงการนวัตกรรมที่ดี และยังขาดตัวกลางในการเชื่อมโยงแหล่งความรู้กับภาคการผลิตที่ชัดเจน ดังนั้น โครงการคูปองนวัตกรรมฯ จึงถือเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดระบบพัฒนาโครงการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย และจะเป็นการสร้างระบบผู้ให้บริการงานนวัตกรรม (innovation service provider หรือ ISP) ที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำแนวคิดด้านนวัตกรรมไปปรับใช้ในธุรกิจของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม กลไกการสนับสนุนผ่านคูปองนวัตกรรมเป็นการร่วมรับความเสี่ยงและสร้างโอกาสให้กับภาคเอกชนสำหรับการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม โดยอาศัยการต่อยอดจากผลงานวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ หรือการรังสรรค์แนวคิดนวัตกรรมจากภาคเอกชนเอง”

“ผลการดำเนินงานโครงการคูปองนวัตกรรมระยะแรก ภายใต้งบประมาณ 120 ล้านบาท ที่ผ่านมานั้นมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 277 โครงการ และจากผลการประเมินโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พบว่า โครงการที่ได้รับการสนับสนุนสามารถก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ 4.95 เท่า ของงบประมาณที่ให้การสนับสนุน กล่าวคือ รัฐให้การสนับสนุนจำนวน 1 บาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4.95 บาท นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับการขยายผลจาก สนช. จนสามารถจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้นั้น สนช. ได้ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเหล่านั้น เข้ามาลงทะเบียนในระบบบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อจัดจำหน่ายแก่ตลาดภาครัฐแล้วจำนวน 13 รายการ ได้แก่ PRO-R: อุปกรณ์กรองก๊าซ NGV/LPG สำหรับรถยนต์ โคโคบอร์ด: ผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร น้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ และดินสอมินิ: หุ่นยนต์บริการดูแลผู้สูงวัย เป็นต้น”

รองศาสตราจารย์ ดร.สมเจตน์ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ให้การสนับสนุนและร่วมสร้างสรรค์โครงการนวัตกรรมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนได้กว่า 1,115 โครงการ วงเงินสนับสนุนกว่า 941 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในธุรกิจใหม่ประมาณ 18,660 ล้านบาท สำหรับ “โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ถือเป็นมาตรการสำคัญที่รัฐบาลกำหนดให้ สนช. ส่งเสริมนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี โดยตั้งเป้าในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เอสเอ็มอีไทยด้วยเทคโนโลยีไทยไม่น้อยกว่า 250 ธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถแข่งขันในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม”

ขั้นตอนการขอรับการสนับสนุนผ่านคูปองนวัตกรรมฯ นั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเข้าไปลงทะเบียนที่ http://coupon.nia.or.th เพื่อยื่นขอรับการสนับสนุนเบื้องต้น เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกแล้ว จะได้รับรหัสโครงการเพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเขียนโครงการฉบับเต็ม ทั้งนี้ โครงการที่เสนอจะต้องมีผู้ให้บริการงานนวัตกรรมประกอบในการขอรับการสนับสนุนด้วย ซึ่งรายละเอียดของ ISP สามารถดูได้ในเว็บไซต์ เมื่อโครงการฉบับสมบูรณ์ได้สมัครเข้าสู่ระบบผ่านทางเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการจะดำเนินการพิจารณาและแจ้งผลผู้ประกอบการด้วยอีเมล์ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติทุนสนับสนุนก็สามารถมาทำสัญญากับ สนช เพื่อดำเนินโครงการได้ทันที โดยโครงการดังกล่าวนี้สามารถเริ่มรับข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการระยะแรก พ.ศ. 2553-2555 ที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือระหว่างสนช.และส.อ.ท. สามารถส่งเสริมนวัตกรรมผ่านทางผู้ให้บริการนวัตกรรม (Innovation Service Provider : ISP) ผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้พัฒนาแนวคิดและต้นแบบ จำนวน 277 โครงการ แบ่งเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจำนวน 37 โครงการ และการสร้างต้นแบบจำนวน 240 โครงการจาก SMEs ที่เข้าร่วม 680 รายทั่วประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญสนใจสมัครเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการงานนวัตกรรม (ISP) จำนวน 832 ราย ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่อยู่ในสถาบันการศึกษา เจ้าของธุรกิจ บุคคลทั่วไป พนักงานเอกชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ประมาณ 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี

ส.อ.ท. ได้ถอดประสบการณ์การจากการดำเนินโครงการระยะแรก เพื่อพัฒนาให้โครงการคูปองนวัตกรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558-2559) สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SMEs ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง โดยการทำงานในโครงการระยะที่ 2 นี้จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านเงินทุน รูปแบบการดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจำนวน 250 โครงการ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท โดย ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้โครงการนี้ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ที่มาข้อมูล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์ ,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ