คณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย เดินหน้าแก้ปัญหาผลกระทบเหมืองทองคำ 3 จังหวัด เรื่องสุขภาพ น้ำกินน้ำใช้ พืชผัก

ข่าวทั่วไป Friday June 12, 2015 16:08 —สำนักโฆษก

ผลการประชุมคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย รัฐ ภาควิชาการ ประชาชนและผู้ประกอบการ แก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองทองคำ 3 จังหวัด ได้ข้อสรุปเดินหน้า 3 เรื่อง คือการดูแลคนป่วย ผู้มีผลเลือดผิดปกติ และตรวจสุขภาพเพิ่มประชาชนที่อาศัยรอบเหมือง 6,000 คน ความปลอดภัยน้ำดื่มน้ำใช้ และการจัดหาแหล่งพืชผักที่ปลอดภัย

วันนี้ (12 มิถุนายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 2 ในฐานะประธานคณะทำงานการเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบประชาชนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดรอบเหมืองทองคำ ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก และคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ประชุมความร่วมมือ 4 ฝ่าย ประกอบด้วยภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชนรอบเหมืองจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก และผู้ประกอบการเหมืองทอง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินการแก้ไขป้องกันใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปัญหาการเจ็บป่วยที่เกิดมาแล้ว 2.การตรวจสุขภาพประชาชนรอบเหมืองประมาณ 6,000 คน และ 3.การเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปรียบเทียบ

นายแพทย์ไชยนันท์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยและผู้ที่มีผลเลือดผิดปกติ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ ที่อาจตกหล่นยังไม่ได้รับการดูแลรักษา ที่ประชุมขอให้ประชาชนส่งรายชื่อให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานการดูแลรักษา และจะรวบรวมข้อมูลการตรวจรักษาที่ผ่านมาของหน่วยงานทั้งหมด ได้แก่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กระทรวงสาธารณสุข บริษัทอัครา และรายชื่อที่ได้จากประชาชน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน

สำหรับปัญหาน้ำดื่มที่ไม่เพียงพอและประชาชนไม่มั่นใจคุณภาพ ได้ตกลงให้ประชาชนเป็นผู้เลือกบริษัทผลิตน้ำดื่ม และบริษัทอัคราเป็นฝ่ายสนับสนุนค่าน้ำ ส่วนน้ำใช้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการตรวจและปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาใน 14 หมู่บ้านที่พบการปนเปื้อนโลหะหนัก โดยจะลงพื้นที่ร่วมกับประชาชน รวมทั้งเพิ่มการตรวจคุณภาพน้ำฝนด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องของการปนเปื้อนโลหะหนักในพืชผักและประชาชนไม่สามารถบริโภคได้ ในระยะเร่งด่วน ได้ให้ประชาชนเป็นผู้ระบุแหล่ง ให้บริษัทอัคราจะสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อร่วมกับผู้ว่าราชการ 3 จังหวัด ส่วนระยะยาว ให้ประชาชนหารือแนวทางการหาพื้นที่เพาะปลูกที่ปลอดภัยต่อไป

นายแพทย์ไชยนันท์ กล่าวต่อว่า ในการเก็บข้อมูลพื้นฐานสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปรียบเทียบนั้น ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือข้อมูลสุขภาพประชาชน ให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแผนการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ในพื้นที่เป้าหมายที่ประชาชนร่วมกำหนด ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และบริษัทอัครารับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจทั้งหมด ส่วนข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ได้ให้ทีมวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิตดำเนินการออกแบบการเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งน้ำ ดินและพืช ส่งตรวจหาการปนเปื้อนโลหะหนัก คือ แมงกานีสและสารหนู ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และใช้เปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นตามหลักวิชาการ

12 มิถุนายน 2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ