รมว.วท. บรรยายพิเศษ เรื่องความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 16, 2015 16:47 —สำนักโฆษก

วันนี้ 15 มิถุนายน 2558 เวลา 09.30 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเกียรติกล่าวบรรยาย เรื่อง"ความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ"โดยมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ เข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันปัญญาภิวัฒน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นต้น ณ ห้องประชุม วิจิตร ศรีสะอ้าน ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หลักการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย โดยการเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูงและประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2569 และการปฏิรูป บุคลากร ด้าน วทน. ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและนวัตกร โครงการขนาดใหญ่และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำหรับอนาคต โครงสร้างพื้นฐาน วทน. ระดับสากล โดยใช้กลไกลการขับเคลื่อนและผู้มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ การร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและภาคเอกชน ความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (อาทิ วท. มท. พณ. กค. กษ. ศธ. กต.) ระบบแรงจูงใจด้านการเงินและภาษี การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบ ความร่วมมือกับต่างประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกับกระทรวงและกรมต่างๆจำนวนมาก เพื่อลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงระบบรางที่ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น และมีความต้องการในส่วนของกำลังคนอยู่ที่ 24,000 คน ในระดับต่างๆ ที่สำคัญควรเตรียมความพร้อมในด้านกำลังคน ด้าน วทน. ให้พร้อมต่อการรองรับงาน ด้าน วทน. ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต และเป้าหมายในการทำงานด้าน วทน. มีอยู่ 3 ข้อที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศ คือ 1.ประเทศไทยต้องหนีจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. ลดความเหลื่อมล้ำ ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยการลดความขัดแย้งในการแบ่งชนชั้น 3. Green Society โดยทั้ง 3 เป้าหมายนี้มีความสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง และทำให้ประชาชนมีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบหมายที่ปรึกษาด้าน วทน. พัฒนาจังหวัดและนำเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. ต่อ PCSO และหน่วยงานในจังหวัด โดยแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด หรือ PSA (Provincial Science Advisor) โดยมอบหมายหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่ายในพื้นที่สนับสนุนงานด้าน วทน. ของจังหวัดโดยเฉพาะศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำภูมิภาคทั้ง 4 ภาค ที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมาก

นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีดังนี้

1. สนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่าย R&D ไปสู่ 1% ของ GDP โดยมีสัดส่วนการลงทุน เอกชน:รัฐ 70:30

ขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีวิจัยและนวัตกรรม 300%

เพื่อส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา 1% ของ GDP

การลงทุนภาคเอกชน : รัฐ 70: 30

2.ส่งเสริมให้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมไทย พัฒนานโยบายจัดซื้อจัดจ้างเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในประเทศ

จัดทำบัญชีนวัตกรรมของไทย

การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะพิจารณาสินค้าและบริการในบัญชีนวัตกรรมไทย

ปัจจุบันมีนวัตกรรมในบัญชีมากกว่า 850 รายการ

www.innovation.go.th

3.สร้างสังคมนวัตกรรม ส่งเสริมการศึกษา STEM ผลิตกำลังคนสาขาขาดแคลน และให้บุคลากรวิจัยภาครัฐสามารถทำงานในภาคเอกชน (Talent Mobility)

ส่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยภาครัฐไปช่วยภาคเอกชนทำวิจัยและนวัตกรรม โดย

  • สามารถนับผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่ง
  • สามารถนับอายุราชการ
  • สามารถนับเวลาชดใช้ทุน

จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility ทุกภูมิภาค 4 แห่ง

เป้าหมายเพิ่มบุคลากรวิจัยของประเทศ 15 คนต่อประชากร 10,000 คน

4.ปฏิรูปสิ่งจูงใจ กฎหมาย กฎระเบียบ ผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

  • กฏหมายส่งเสริมการสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์นวัตกรรม
  • กฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (ส่งต่อ IP จากหน่วยงานให้ทุนของรัฐไปยังผู้รับทุน)
  • กฎหมายสนับสนุน SMEs พัฒนาต่อยอดงานวิจัย
  • กฎหมายส่งเสริมการลงทุนใน start-up

5.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา นักวิจัย สิทธิบัตรด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คือ การเข้าถึงข้อมูลและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมาข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวยังกระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ ขาดการรวบรวมฐานข้อมูลทั้งด้านบุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย เครื่องมือและห้องปฏิบัติการแบบครบวงจรไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน ดังนั้น การที่จะยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มีอันดับที่สูงขึ้นได้ จึงต้องสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวอย่างเต็มประสิทธิภาพและเต็มสมรรถนะ โดยภาครัฐยังคงเป็นเจ้าของและให้ภาคเอกชนมาร่วมใช้งานได้

ดร.พิเชฐ ได้กล่าวอีกว่า การทูตวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) คือการบูรณาการการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูป วทน. และยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย

ทั้งนี้ หลังจากการบรรยายในที่ประชุมดังกล่าว ได้มีการกล่าวชื่นชมรัฐบาลที่ได้ดำเนินการสร้างผลงานจำนวนมาก ในระยะเวลา 7-8 เดือน นับได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับวงการด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย รวมถึงการความร่วมมือในหน่วยงานภาครัฐ เชื่อมไปยังภาคเอกชน เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ของผลงานวิจัยและพัฒนา

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ , นางสาวสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail :

pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ