ที่ประชุม กขน.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ คสช. มีความคืบหน้าโดยลำดับ

ข่าวทั่วไป Friday June 19, 2015 17:56 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19มิ.ย.58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล (กขน.) ครั้งที่ 3/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุม กขน.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชุดต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ผู้ประสานงานบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล (ระดับกระทรวง) (ปขก.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) รวมทั้งความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมาย และรายงานงบประมาณและผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2558 จากสำนักงบประมาณ ทั้งนี้การดำเนินงานต่าง ๆ ดังกล่าวโดยรวมมีความคืบหน้าโดยลำดับและเป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่รัฐบาลกำหนด เช่น การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กขย. โดย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกันดำเนินการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ของกองทัพภาคที่1 – 4 โดยในปี 2558 ตั้งเป้าในการเรียกคืนให้ได้จำนวน 6 แสนไร่ทั่วประเทศ และในปี 2559 จำนวน 9 แสนไร่โดยให้บูรณาการทั้งในเรื่องการเยียวยาสำหรับเกษตรกรยากจน และการใช้ประโยชน์จากต้นยางที่ถูกโค่นไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและสามารถดำเนินการตามขั้นตอนตามแผนที่วางไว้ ขณะเดียวกันได้วางแนวทางให้มีการจัดทำแนวเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ราชการที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ ใหม่ ให้เกิดความชัดเจน โดยใช้แผนที่ฉบับเดียวกันและนำไปสู่ขั้นตอนการนำไปบังคับใช้ โดยการปรับแก้ พ.ร.บ.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันให้ได้ภายในปี 2558

การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินตามนโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กขย. ได้ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ คณะอนุกรรมการ คทช. จังหวัด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างครบกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีการส่งมอบพื้นที่ได้แล้ว 6 จังหวัด จำนวน 53,997 ไร่ (ระยะที่ 1) จัดสรรที่ดินที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับประชาชนแล้วมีเนื้อนที่ จำนวน 7,300 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 1,386 ครัวเรือน

การสร้างความเข้มแข็งสหกรณ์ โดย กขย. ได้จัดผู้แทนร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพงานด้านสหกรณ์และตลาดเกษตรกร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง

การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีผลการดำเนินงานสรุป ดังนี้ 1) นโยบายกองเรือประมงและแผนการบริหารจัดการด้านการประมง ตามที่ EU เสนอแนะให้ลดจำนวนเรือประมงให้สอดคล้องกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ รวมถึงมีมาตรการควบคุมเรือประมงและเครื่องมืองต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดเป็นนโยบายกองเรือประมงที่ชัดเจน และจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการด้านการประมง ซึ่งปัจจุบัน ร่างนโยบายการบริหารจัดการประมงทะเลของไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถส่งร่างฉบับภาษาอังกฤษให้ EU พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558

2) กรอบกฎหมายประมง EU เน้นย้ำขอให้เป็นกฎหมายฉลับเดียวที่มีเนื้อหาครอบคลุมการประมงทุกเรื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการฤษฎีกา และคาดว่าจะสามารถส่งร่างฉบับภาษาอังกฤษให้ EU พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558

3) แผนปฏิบัติการระดับชาติ (NPOA – IUU) ขอให้ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับนานาชาติและเชื่อมโยงแผนบริหารจัดการด้านการประมง ส่งให้ EU พิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคณะทำงานด้านแผนปฏิบัติการระดับชาติ

4) การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง การประมง (MCS) รวมถึงการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจและบังคับใช้กฎหมาย การติดตั้งระบบ VMS ในเรือ ระบบการเก็บข้อมูลสัตว์น้ำที่จับได้ ปัจจุบันได้ตั้งคณะทำงานการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) จัดทำแผนการตรวจสอบระดับประเทศ และคณะทำงานติดตามด้านการจัดทำระบบติดตามเรือ (VMS) ให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2558

5) การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง (Traceability) ต้องสามารถตรวจย้อนกลับสินค้าประมงทุกประเภทที่มีการค้าขายให้ยุโรป โดยไม่กำหนดรูปแบบการคมนาคม และต้องครอบคลุมทุกกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานระบบตรวจสอบย้อนกลับ และ6) การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ระบุในใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทยมีความน่าเชื่อถือและเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ IUU โดยต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต

พร้อมทั้งที่ประชุมฯ รับทราบการติดตามและตรวจสอบโครงการ/รายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินดำเนินการเกินกว่า 50 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 จาก คตร. ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ รายงานรายการรายจ่ายลงทุนที่มีงบประมาณตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้รายงานสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 สิ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และสิ่งที่ดำเนินการในห้วงเวลาต่อไป โดยให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ติดตามและตรวจสอบโครงการแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีทุกเดือน ส่วนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ให้หลักการดำเนินงาน โครงการ/รายการ รายจ่ายลงทุนที่มีงบประมาณตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ดังนี้ 1) ให้ส่วนราชการที่มีความพร้อมผูกพันงบประมาณภายในเดือนมิถุนายน จำนวน 59 โครงการ/รายการ วงเงิน 10,314.04 ล้านบาท ดำเนินผูกพันงบประมาณ โดยไม่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 2) สำหรับโครงการ/รายการ ที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว และการโอนเบิกจ่ายแทน แต่ดำเนินการในระบบไม่สมบูรณ์ให้ส่วนราชการดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน 2558 และ3) สำหรับโครงการ/รายการที่ไม่พร้อมลงนามภายในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 38 โครงการ/รายการ วงเงิน 4,760.19 ล้านบาท เป็นโครงการ/รายการที่ไม่สามารถเริ่มดำเนินการหรือก่อหนี้ได้ทันภายในระยะเวลาตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 และวันที่ 20 เมษายน 2558 จะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558

ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายตามแผนการเสนอร่างกฎหมายในระยะ 1 ปี (ตุลาคม 2557 – ตุลาคม 2558) จำนวน 163 ฉบับ นั้น ขณะนี้มีร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 59 ฉบับ และร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 92 ฉบับ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 21 ฉบับ และอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงาน 71 ฉบับ อย่างไรก็ตามตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามแผนฯ จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 มีหน่วยงานขอถอนร่างกฎหมายออกจากแผนฯ ทั้งสิ้น จำนวน 12 ร่าง

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ