เปิดโครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ ใน 1 ปี เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2015 16:19 —สำนักโฆษก

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยตามแนวทางพัฒนาการทางสมอง (BBL) ตามโครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ ใน 1 ปี เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศและติดตามประเมินผล ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนภาษาไทย เข้ารับการอบรมกว่า 1,100 คน เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมเซ็นทารา อำเภอเมืองขอนแก่น

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่จะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่ทุกท่านได้เข้ามารับการอบรมการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยตามแนวทาง Brain-based Learning (BBL) ทั้งที่อยู่ ณ ที่นี้ และที่ร่วมรับชมการถ่ายทอดสดในระบบทางไกลอีกจำนวนมาก จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติในอนาคต

ขอเรียนว่ารัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา โดยได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนตั้งแต่วัยเริ่มเรียน ซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญคือ ปีการศึกษา 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อจบ ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ และมีมาตรการประเมินผลอย่างรูปธรรม ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่อง เขียนคล่อง ตั้งแต่วัยเริ่มเรียน จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นและใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นการพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนประการหนึ่ง และเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในหลายส่วน อาทิ การให้ครูได้อยู่ในห้องเรียนโดยให้มีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบ TEPE Online, การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่าน DLTV, การจัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้มีการเรียนการสอนสายวิชาชีพในโรงเรียนสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาคุณภาพการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และโครงการที่สำคัญที่ได้ดำเนินการในห้วงที่ผ่านมาและมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คือ โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษาของชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากโรงเรียนขนาดเล็กสู่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อไป โดยต่อยอดจากการศึกษาทางไกลจากต้นทางที่โรงเรียนวังไกลกังวล ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานและจะเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ทุกท่าน ที่มาเข้าร่วมการอบรมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีส่วนร่วมสำคัญให้การศึกษาเดินหน้าประเทศไทยต่อไปได้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน คณะ อ.พรพิไล เลิศวิชา เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และวิทยากรทุกท่าน ที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ทำให้เกิดการพลิกโฉมโรงเรียนอย่างแท้จริง

นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อเรียนจบชั้น ป.1 อ่านออกเขียนได้ และมีมาตรการประเมินผลให้เป็นรูปธรรม ซึ่งการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย มีรูปแบบวิธีการสอนที่หลากหลายตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของครู

อย่างไรก็ตาม สพฐ.พิจารณาเห็นว่า วิธีการสอนตามแนวทางพัฒนาการทางสมอง หรือ Brain - based Learning หรือ BBL เป็นแนวทางหนึ่งที่ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จและสามารถดำเนินการได้ทุกระดับชั้น จึงได้ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยตามแนวทางพัฒนาการทางสมอง ด้วยการอบรมทางไกลผ่านดาวเทียมด้วยระบบ DLTV และ DLIT ให้แก่โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ และคัดเลือกโรงเรียนแกนนำพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการ การปรับโครงสร้างการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แนวทาง BBL และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกโรงเรียนที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 2 โรงเรียน และขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ รวม 2,272 โรงเรียน

จากนั้นได้จัดให้มีการอบรมในทุกภูมิภาค แบ่งเป็น 5 จุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศและติดตามประเมินผล ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนภาษาไทย รวม 5,000 คน โดยจัดอบรมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2558

ในส่วนของการจัดอบรมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 1,100 คน

นวรัตน์ รามสูต - บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน

นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ