กขร.ขอให้ส่วนราชการสร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนรับทราบ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2015 17:24 —สำนักโฆษก

วันนี้ (24มิ.ย.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 6/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานฯ แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า เมื่อวานนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนในการเพาะปลูกข้าว ทั้งนี้มี 2 มิติที่รัฐบาลต้องการให้ส่วนราชการต่าง ๆ ช่วยกันดำเนินการ คือมิติด้านการสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรและประชาชน และมิติด้านการหามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่จะร่วมกันดำเนินการ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมบริหารจัดการน้ำ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สำหรับกรณีที่ขณะนี้มีเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันและบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความแตกแยกและความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น เมื่อวานนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ทำงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการติดตามและระงับยับยั้งเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์ ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไปขอให้กระทรวงเทคโนโลยีฯ ได้นำข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวรายงานให้ที่ประชุมรับทราบด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในบันทึก กขร. เสนอสรุปรายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557-30 เมษายน 2558) ให้เน้นการปรองดองที่เกิดจากจิตใจของตนเอง โดยไม่ถูกบังคับ/บิดเบือน/ชักจูง ให้สร้างความรู้เพื่อให้ประชาชนคิดเป็น และมีความเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้องเห็นต่างแต่ต้องไม่ขัดแย้ง และให้การสนับสนุนกการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล เข้าใจผลประโยชน์ชาติ เพื่อสร้างสรรค์เผื่อแผ่แบ่งปันแก่คนไทยทั้งประเทศ มิฉะนั้น โครงการสำคัญ ๆ ของประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามนโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) มาตรการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด 2) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3) การส่งเสริม SMEs และ 4) ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญดังกล่าวของรัฐบาลมีความคืบหน้าโดยลำดับ อย่างไรก็ตามในส่วนมาตรการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จากที่หน่วยงานที่เกี่ยวได้มีการประชุมหารือร่วมกันแล้วลำดับแรกจะให้ความสำคัญด้านความมั่นคงการอุปโภบริโภคไปจนถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นสำคัญ และการบริหารจัดการน้ำจะเข้มงวดมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำในปัจุบันโดยเฉพาะน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งน้ำให้ 22 จังหวัด ณ วันนี้มีน้ำที่ใช้การได้อยู่ประมาณ 1,067 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาตรน้ำในอ่างทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 7,763 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถใช้การได้ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อวานนี้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ได้มีการระบายน้ำ 33 ล้านลูกบาศ์ก์เมตร เพื่อที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำดังกล่าว หากเก็บกักน้ำไว้ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จะทำให้มีการปล่อยน้ำลดลงจาก 33 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือประมาณ 25 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งปริมาณน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรจะสามารถหล่อเลี้ยงในการทำการเกษตรที่มีการเพาะปลูกไปแล้วในพื้นที่ 22 จังหวัด ประมาณ 3.4 ล้านไร่ และที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ 4 ล้านไร่ รวมในเขตชลประทานของพื้นที่ 22 จังหวัด ประมาณ 7 ล้านไร่ ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกก็ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้มีการเพาะปลูก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคได้ โดยวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้มีการเสนอมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ประชุมครม.เศรษฐกิจพิจารณา อาทิ มาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้น และให้เลื่อนการทำนาออกไปก่อน รวมทั้งจะมีการเสนอเกี่ยวกับเรื่องปรับโครงสร้างทางการผลิตในระยะยาวให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะปรับโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อระยะยาว การปรับการสร้างระบบชลประทานขนาดเล็ก ตลอดจน การสร้างรายได้และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย โดยการยืดระยะเวลาออกไป และการสร้างแหล่งอาหารภายในชุมชน เป็นต้น

ส่วนกระทรวงพลังงาน ได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การปรับราคาค่าไฟฟ้า การปรับราคา LPG การผลักดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ แผนพัฒนาพลังงานทดแทน การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจผลิตปิโตรเลียม

อีกทั้ง ที่ประชุม ได้รับทราบเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่และตรวจราชการในพื้นที่ต่างจังหวัดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558 ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2558 ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ และตรวจราชการจังหวัดพิษณุโลก จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผลการดำเนินงานศึกษาภูมิปัญญา นวัตกรรมท้องถิ่น รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะด้านการจัดสรรที่ดินทำกิน การช่วยเหลือเกษตรกร การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลนักท่องเที่ยว โดยให้ส่งข้อมูลให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมตรี รวมทั้งจะมีการจัดแสดงนิทรรศการของส่วนราชการต่าง ๆ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ