รวมศูนย์ข้อมูลแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือ ผลิตบุคลากรสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2015 17:19 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีแรงงาน เผย ก.แรงงาน ทำงานเป็นหุ้นส่วนระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง อำนวยความสะดวกสนับสนุนวิทยากร พร้อมเป็นต้นแบบกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เชื่อความสำเร็จการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นอยู่กับความร่วมมือภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สมาคมวิชาชีพ ย้ำ ก.แรงงาน พร้อมพัฒนาศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรม ผลิตบุคลากรไทยให้เหมาะสม สนองนโยบายรัฐบาล

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ว่า วันนี้เป็นการมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบกิจการที่สนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและเป็นมาตรฐานของโรงงานเอง ทั้งหมดนี้มุ่งที่จะสร้างมาตรฐานให้กับแรงงานไทยที่พัฒนาฝีมือขึ้นให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้นเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ เรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานวันนี้ทุกประเทศทั่วโลก พยายามทำทรัพยากรมนุษย์ของตนที่มีให้มีความสามารถสูงให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีเพียงประเทศเดียวในโลก เราอยู่ในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ฉะนั้นการเร่งรัดเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น ก็เท่ากับว่าได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนจำนวนมากเห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานและได้เข้ามาร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า บทบาทในอนาคตจะสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับภาคเอกชน เพราะเป็นผู้บุกทำการตลาดในประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองซึ่งต้องผลิตสินค้าแข่งขันกัน ซึ่งภาคเอกชนเองจะรู้ว่าต้องการแรงงานฝีมือแบบไหน แต่กระทรวงแรงงานเองจะเป็นส่วนสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้สำเร็จเพื่อชาติบ้านเมืองโดยรวม ถ้าระเบียบกฎหมายยังติดขัดก็ต้องแก้ไข ซึ่งจะมีการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการว่าราชการเองต้องปรับอะไรบ้าง และภาคเอกชนต้องพัฒนาอะไรบ้าง ส่วนการพัฒนาทักษะฝีมือมีหลายสาขาต้องทำไปเรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ เราต้องอาศัยความพร้อมของภาคเอกชนผู้ประกอบการ สมาคมวิชาชีพต่างๆ เป็นหลัก

ภาคราชการไม่สามารถเพิ่มกำลังคนให้สามารถพัฒนาทักษะฝีมือได้ทั้งประเทศ แต่ภาคราชการจะทำต้นแบบ

มีวิทยากร กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้

“ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศใดมีขีดความสามารถมากกว่ากัน เท่ากับมีความสามารถในการแข่งขันสูงยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรให้ทันกับชาวโลก คนไทยมีฝีมือความสามารถสูงขึ้นเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นก็จะสูงขึ้น วิธีคิดระบบความคิดจะดีขึ้น กระทรวงแรงงานจะทำงานเป็นหุ้นส่วนระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และจะพัฒนาไปสู่อนาคตด้วยกัน”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

วันนี้ข้อมูลที่แต่ละภาคส่วนต้องการแรงงานนั้นมีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มาอยู่ศูนย์เดียวกันทั้งหมด เช่น ภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือแม้กระทั่งบีโอไอจะรู้ว่าต้องการแรงงานเท่าไหร่ ซึ่งเราต้องดูว่ามีคนไทยทำหรือไม่ ถ้าไม่มีเราต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือเข้ามาทำชั่วคราว เพื่อรอการผลิตบุคลากรของไทยที่เหมาะสม ซึ่งจะอนุญาตแบบปีต่อปีตามความเหมาะสม และเมื่อคนไทยทำงานด้านนี้ได้ก็ต้องทดแทนเข้าไปและแรงงานต่างชาติต้องถอยกลับประเทศต้นทาง สำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงาน พบว่า ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Modern Industry) การที่ไทยก้าวเข้าสู่ (Trading Nation) ซึ่งกำลังแรงงานจะต้องพัฒนาไปสู่ระดับหัวหน้างานและเจ้าหน้าที่สำนักงานจะเกิดขึ้น รวมถึงการก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

โอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบรางวัลแก่สถานประกอบกิจการดีเด่น 54 แห่ง รางวัลเพชรน้ำหนึ่งประจำปี 2558 จำนวน 22 ราย รางวัลครูฝึกดีเด่นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 5 ราย มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ กพร. 9 ราย มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดเครื่องหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 จำนวน 3 รางวัล รวมทั้งสิ้นกว่า 90 รางวัล

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สป.รง.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ