นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คนร. ครั้งที่ 6/58 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ

ข่าวทั่วไป Friday July 17, 2015 11:48 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ครั้งที่ 6/58 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจที่มีบริษัทในเครือทบทวนสถานภาพการคงอยู่ของบริษัทในเครือ โดยให้รายงานผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดและนำเสนอ คนร. ภายใน 3 เดือน พร้อมเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ

วันนี้ (17 ก.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 6/2558 โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

คนร. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจและได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีบริษัทในเครือทบทวนสถานภาพการคงอยู่ของบริษัทในเครือที่มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยให้รายงานผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดและนำเสนอ คนร. ภายใน 3 เดือน หากจำเป็นต้องคงอยู่แต่มีผลการดำเนินงานขาดทุนให้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงานด้วย สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุน และกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ ได้มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในสาระสำคัญดังนี้ 1) ให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง 2) ปรับปรุงข้อมูลประกอบการขออนุมัติการจัดตั้ง/ร่วมลงทุนในบริษัทในเครือที่มีความรอบคอบและมุ่งหวังผลสำเร็จของบริษัทในเครือ 3) ปรับปรุงระบบกำกับดูแลบริษัทในเครือที่รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือต่อ คนร. รวมทั้ง กำหนดให้การส่งพนักงานเข้าไปทำงานในบริษัทในเครือ (Secondment) ให้พนักงานรับค่าตอบแทนทางใดทางหนึ่งเท่านั้น และให้มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน

คนร. เห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่จะจัดทำขึ้น ตามที่ คนร. ได้มอบหมายในคราวประชุมครั้งที่ 4/2558 โดยมีสาระสำคัญคือ 1) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในกฎหมาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2) กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ 3) กำหนดให้มีระบบกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ ระบบประเมินผลงาน ระบบการเปิดเผยข้อมูล และระบบการแก้ไขรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 4) กำหนดให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติโดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ เพื่อทำหน้าที่บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีลักษณะการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ คนร. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจฯ ที่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานอนุกรรมการ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งหารือกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจไปยังบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณชนก่อนนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไป โดยการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะไม่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ แต่จะเป็นเครื่องมือของรัฐในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการขายรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด เป็นการตั้งบรรษัทฯ ขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรเจ้าของ เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงานและสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้กับรัฐวิสาหกิจ

พร้อมกันนี้ ตามที่ คนร. ได้มีมติให้รัฐวิสาหกิจปรับลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและปรับลดวงเงินบริจาค และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจมีการเปิดเผยข้อมูลให้ได้มาตรฐาน โดยในการประชุมครั้งนี้ คนร. ได้ติดตามผลการดำเนินการตามมติ คนร. ดังกล่าว และคนร. ได้กำชับให้รัฐวิสาหกิจเร่งลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและเงินบริจาค และเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ตามมติ คนร. ภายใน 1 เดือน รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะถึงผลงานของรัฐวิสาหกิจตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในเรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คนร. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการซ่อมบำรุงและจัดหาขบวนรถใหม่ เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และเห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่จะขยายไปยังสนามบินดอนเมืองควบคู่กันต่อไป ส่วนเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คนร. ได้มอบหมายให้ สคร. หารือร่วมกับรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ